ศาลยุติธรรม ออก 5 มาตรการแนวปฏิบัติจัดการคดี เลื่อนคดีเดือน ม.ค. ลดความเสี่ยงโควิดระบาด

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2575 ครั้ง

ศาลยุติธรรมออกแนวปฏิบัติจัดการคดีช่วงโควิดระลอกใหม่ ให้เลื่อนคดีเดือน ม.ค. พร้อม WORK FROM HOME ตามความจำเป็น-ย้ำใช้นวัตกรรมออนไลน์ลดการเดินทาง-ความเสี่ยงการสัมผัส

วันนี้ (5 ม.ค.64) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า จากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ระลอกใหม่ กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งทางการได้ประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) ใน 28 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น ในส่วนของศาลยุติธรรมโดย “คณะอนุกรรมการศึกษา ติดตามและแก้ไขการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” ที่มีนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เป็นประธานอนุกรรมการฯ ได้ออกแนวปฏิบัติการบริหารจัดการคดีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เป็นฉบับที่ 3 ซึ่งได้กำหนดมาตรการต่างๆ ที่จะใช้เป็นแนวทางให้กับหน่วยงานในสังกัดศาลยุติธรรมทั่วประเทศ ในการปฏิบัติงานที่จะไม่ให้เกิดอุปสรรคต่อการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีที่จะช่วยให้คู่ความที่ต้องติดต่อราชการศาลในทุกพื้นที่ได้รับความสะดวกโดยคดีไม่ให้ได้รับผลกระทบด้วย

สำหรับมาตรการ ที่กำหนดไว้ในแนวปฏิบัติการบริหารจัดการคดีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ฉบับที่ 3 ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.- 31 ม.ค.64 ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ คือ 1.สำหรับคดีจัดการพิเศษ (คดีที่ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน และมีแนวโน้มที่จะพิจารณาให้เสร็จได้ภายในนัดเดียวหรือใน 1 วัน เช่น คดีแพ่งมโนสาเร่ คดีผู้บริโภค), คดีสามัญ (คดีที่ไม่ใช่คดีจัดการพิเศษ ซึ่งต้องสืบพยานหลักฐานของคู่ความและไม่สามารถนั่งพิจารณาคดีให้เสร็จได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว) และคดีสามัญพิเศษ (คดีสามัญที่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน มีพยานหลักฐานที่ต้องนำสืบจำนวนมากไม่สามารถนัดสืบต่อเนื่องกันไปจนเสร็จต้องสืบเป็นช่วงๆ ละ 2-4 วัน) ซึ่งศาลชั้นต้นที่เคยนัดไว้ระหว่างวันที่ 5–31 ม.ค.64 ให้ศาลชั้นต้นเลื่อนคดีออกไปก่อน เว้นแต่คดีนั้นสามารถดำเนินการได้ตามแนวปฏิบัติที่กำหนดก่อนหน้านี้ เช่น การดำเนินการผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (VDO Conference) หรือเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น และให้นำมาตรการการบริหารจัดการสำหรับหน่วยงานที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) มาใช้บังคับ

2.ส่วนคดีในศาลชั้นอุทธรณ์ และชั้นศาลฎีกา ที่มีนัดพิจารณาไว้ระหว่างวันที่ 5-31 ม.ค.64 นั้นอาจพิจารณาเลื่อนคดีได้ตามความเหมาะสม 3.การกำหนดให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของหน่วยงาน หรือ WORK FROM HOME สำหรับงานที่ไม่จำเป็นต้องมาปฏิบัติที่ศาล (ศาลชั้นต้น ศาลชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกา) อาจพิจารณาให้ผู้พิพากษาที่ปฏิบัติงานนั้น WORK FROM HOME ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น เช่นเดียวกับข้าราชการในหน่วยงานสังกัดศาลยุติธรรมก็อาจจัดให้ WORK FROM HOME ตามความเหมาะสมเพื่อลดจำนวนบุคลากรที่ต้องมาปฏิบัติงาน ณ ที่ทำการ โดยการลดจำนวนนั้นก็จะต้องไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ 4.ให้ทุกหน่วยงาน จัดให้มีการแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ หรือช่องทางการติดต่อสื่อสาร ผ่านเว็บไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานนั้น เพื่อให้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ ดังนั้นหากมีข้อสงสัยพี่น้องประชาชน สามารถตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ที่กำหนดไว้ได้ผ่านทางเว็บไซต์ของศาลต่าง ๆ 5.ให้ทุกหน่วยงาน จัดให้มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตน การบันทึกข้อมูลการเดินทางเพื่อการสอบสวนโรค และให้ความช่วยเหลือในการตรวจหาเชื้อและการรักษาแก่บุคลากรในหน่วยงาน โดยสามารถประสานกับ “ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 “ สำนักการแพทย์ สำนักงานศาลยุติธรรม

นายสุริยัณห์ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ภายหลังคณะอนุกรรมการศึกษาฯ ได้ออกแนวปฏิบัติการบริหารจัดการคดี ฯ ฉบับที่ 3 ออกมาแล้ว สำนักงานศาลยุติธรรม ได้มีหนังสือเวียนแจ้งให้ทุกหน่วยงานในสังกัดทราบโดยทันทีแล้วเพื่อปฏิบัติ อย่างไรก็ดีสำหรับสถานการณ์ที่ทุกคนต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อโควิดทั้งการงดเดินทางที่ไม่จำเป็นในพื้นที่ประกาศควบคุมสูงสุด และในพื้นที่มีผู้คนจำนวนมากอยู่รวมกัน การต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสที่จะเสี่ยงต่อการรับเชื้อโดยไม่ทันรู้ตัวนั้น แต่เมื่อมีความจำเป็นทางคดีที่อาจจะต้องยื่นฟ้อง ยื่นคำคู่ความคัดและคัดถ่ายเอกสาร ก็ยังสามารถเลือกใช้ช่องทางติดต่อศาลทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านเทคโนโลยีออนไลน์ SMART COURT ทั้งระบบยื่นฟ้อง การส่งและรับคำคู่ความด้วย e-Filing version 3 (อีไฟล์ลิ่ง) ได้ทุกที่ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง, ระบบติดตามสำนวนคดี Tracking System, ระบบ CIOS (ซีออส) หรือ ระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม สำหรับการติดตามการแจ้งผลส่งหมาย-คำสั่งศาล-ผลคดี, e-Notice (อีโนติส) การส่งเอกสารทางคดี และการประกาศนัดไต่สวนคำร้อง เช่น คำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก คำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตร โดยวิธีลงโฆษณาทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ, การคืนเงินในคดีให้แก่คู่ความผ่านระบบ Corporate Banking โดยนวัตกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยสร้างความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายให้คู่ความ ซึ่งศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ปรับปรุงพัฒนาระบบมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลปฏิบัติที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อคู่ความเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็วในทุกพื้นที่

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2575 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน