ศาลยุติธรรม ร่วมมือกรมการปกครอง สคบ.เชื่อมเครือข่ายไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาททางเลือก

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2088 ครั้ง

สนง.ศาลยุติธรรม ร่วมมือกรมการปกครอง สคบ.เชื่อมเครือข่ายไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาททางเลือก แก้ปัญหาหนี้สินยุคสังคมการบริโภควิถีใหม่ช่วงโควิด

วันนี้ (22 ก.พ.64) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมสำนักงานศาลยุติธรรม อาคารศาลอาญา ชั้น 12 ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายพิริยะ ฉันทดิลก รองอธิบดีกรมการปกครองฝ่ายปกครองท้องที่ และนายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (ส.ค.บ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและส่งเสริมการไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาททางเลือก ระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรม กรมการปกครอง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า สํานักงานศาลยุติธรรมเป็นหน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรม มีภารกิจเกี่ยวกับงานส่งเสริมงานตุลาการ และงานวิชาการเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานให้แก่ศาลยุติธรรมทั่วประเทศ ในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน โดยภารกิจด้านการระงับข้อพิพาทของศาลยุติธรรม นอกจากการพิจารณาพิพากษาคดีแล้ว สำนักงานศาลยุติธรรมยังมีบริการระงับข้อพิพาททางเลือกสำหรับประชาชน ด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอย่างครบวงจร ตั้งแต่ก่อนการฟ้องคดีและระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งกรมการปกครอง และสคบ. ต่างก็เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการให้บริการประชาชนเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการไกล่เกลี่ยหรืออนุญาโตตุลาการ เช่นเดียวกับสำนักงานศาลยุติธรรม ประกอบกับ ณ เวลานี้ประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบถึงวิถีชีวิตการบริโภคและการใช้จ่าย ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ของภาคประชาชน

ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการบริโภควิถีใหม่ที่มีการใช้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในกระบวนการบริโภคมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องให้ความรู้ภาคเอกชนและประชาชนทั้งด้านกฎหมายและวิธีปฏิบัติ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง และมีความสามารถในการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน ทั้งสามหน่วยงานจึงได้ร่วมมือกันสนับสนุนการเชื่อมโยงเครือข่ายการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องและกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท การส่งต่อกรณีพิพาทระหว่างกันตามความเหมาะสม ความร่วมมือทางวิชาการในการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการระงับข้อพิพาทของศาล การพัฒนาบุคลากรโดยร่วมกันพัฒนาศักยภาพอนุญาโตตุลาการ และผู้ประนีประนอมหรือผู้ไกล่เกลี่ยของแต่ละหน่วยงาน ตลอดจนร่วมกันส่งเสริม เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายแก่ประชาชน

ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการระงับข้อพิพาทได้โดยสะดวก และมีความรู้ ความเข้าใจถึงประโยชน์การระงับข้อพิพาท อีกทั้ง เป็นการแก้ไขปัญหาด้านหนี้สินของประชาชน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่มีการบริโภควิถีใหม่อีกด้วย

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2088 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน