กฟผ. Kick off ศูนย์เรียนรู้สืบสานศาสตร์พระราชา “โคก หนอง นา โมเดล” 3 แห่ง เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1864 ครั้ง

กฟผ. เปิดศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 แห่ง ในพื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนภูมิพล และ กฟผ.แม่เมาะ สืบสานศาสตร์พระราชา “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้สนใจ หวังฟื้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงาน เพื่อเตรียมรับมือวิกฤตของโลกในอนาคต

เมื่อวันที่ 22 ก.พ.64 ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและนายกสมาคมดินโลก เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ในการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบโคก หนอง นา โมเดล พร้อมด้วยนายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายอาจณรงค์ สัตยพานิช หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดร.สุทธิชัย จูประเสริฐพร รองผู้ว่าการบริหาร และผู้บริหาร กฟผ. เข้าร่วมในพิธี ณ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี

ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมรอบพื้นที่เขื่อน และโรงไฟฟ้าของ กฟผ. รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงตลอดแนวสายส่งผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (7 เขื่อนพระนาม 3 โรงไฟฟ้า) โดยวันนี้พร้อมเปิดบริการให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่สู่การปฏิบัติจริงในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” จำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนภูมิพล จ.ตาก และ กฟผ. แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อนำความรู้ไปขยายผล สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงาน เตรียมรับมือวิกฤตของโลกในอนาคต

ศูนย์ศึกษาและพัฒนา ฯ ของ กฟผ. จะเริ่มดำเนินการจัดอบรมหลักสูตรการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ประชาชนที่สนใจ เกษตรกร ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 64 เป็นต้นไป โดยวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้จากการปฏิบัติจริง หรือ “ครูพาทำ” ผ่านฐานการเรียนรู้ฐานหลักในจำนวน 7 ฐาน อาทิ

  • ฐานคนรักษ์ป่า เรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการปลูกไม้ 5 ระดับ
  • ฐานคนรักษ์แม่ธรณี เรียนรู้เกี่ยวกับการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ จากแนวคิด “เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช”
  • ฐานคนรักษ์น้ำ เรียนรู้ศาสตร์การจัดการและอนุรักษ์น้ำโดยหลักธรรมชาติ อาทิ โครงการฝนหลวง การขุดคลองไส้ไก่ เครื่องดักหมอก และการบำบัดน้ำเสีย
  • ฐานคนรักษ์แม่โพสพ เรียนรู้การทำนาข้าวอินทรีย์ ดังคำที่ว่า “เงินทองของมายา ข้าวปลาสิของจริง”
  • ฐานคนรักษ์สุขภาพ เรียนรู้วิธีการมีสุขภาพที่ดีแบบวิถีพอเพียง
  • ฐานคนมีน้ำยา เรียนรู้วิธีการทำน้ำยาเอนกประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
  • ฐานคนเอาถ่าน เรียนรู้การทำถ่านธรรมชาติและประโยชน์ของน้ำส้มควันไม้

นอกจากนี้ศูนย์ศึกษาและพัฒนา ฯ ของ กฟผ. ยังมุ่งเน้นการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในพื้นที่ โดยเฉพาะพลังงานชีวมวล นำเอาเศษอาหารและมูลสัตว์มาหมักเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อใช้แทนก๊าซหุงต้ม การติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากโซลาร์เซลล์ และการปลูกพืชพลังงาน รวมถึงการกิจกรรมให้เหมาะกับสภาพพื้นที่และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์การเรียนรู้ราชานุรักษ์ เขื่อนศรีนครินทร์ โทร. 034-574-248 ศูนย์ศึกษาและพัฒนา ฯ กฟผ. แม่เมาะ โทร. 054-252-186 และประชาสัมพันธ์เขื่อนภูมิพล โทร. 055-881-238

ทั้งนี้ กฟผ. มีแผนจัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายในปี 2565 เพิ่มเติม รวมทั้งสิ้น 10 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1864 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน