มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2470 ครั้ง
“เกษตรฯ-สภาอุตสาหกรรมฯ” เดินหน้า “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ระดมนักบริหารมืออาชีพ “ยงวุฒิ-ยุคล-กนก-โฆษิต” เร่งเครื่องโครงการเขตอุตสาหกรรมเกษตรอาหารกระจายการลงทุน 18 กลุ่มจังหวัดสร้างสมดุลใหม่ในการพัฒนาประเทศ
“ยงวุฒิ” คิดออฟ ประชุมนัดแรกวางโรดแม็ปขับเคลื่อนพร้อมหารือบีโอไอ.ส่งเสริมการลงทุนพิเศษเน้นเกษตรอาหารแห่งอนาคต (Future Food) บุกตลาดโลก

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) เปิดเผยว่า หลังจากกรกอ.มีมติเห็นชอบ “โครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม” และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารให้เป็นกลไกบริหารโครงการ ล่าสุดที่ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารครั้งที่ 1/2564ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารภายใต้ “5 ยุทธศาสตร์ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ” และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 เมษายน 2563 ว่าด้วย “มาตรการการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ปี พ.ศ. 2562-2570” ตั้งเป้าขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารท็อปเทนของโลกควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวบนฐานเกษตร 4.0 เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารใน 18 กลุ่มจังหวัด เพื่อกระจายการลงทุนเพิ่มการจ้างงานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรทั่วทุกภูมิภาคตามศักยภาพของแต่ละกลุ่มจังหวัด ซึ่งขณะนี้มีถึง 9 กลุ่มจังหวัด ที่สนใจโครงการนี้และเสนอพื้นที่ดำเนินการ บางกลุ่มจังหวัดเริ่มดำเนินการแล้ว เช่น กลุ่มจังหวัดอีสานเหนือที่อุดรธานี และกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบนที่อ่างทอง
“การกระจายการลงทุนใน 18 กลุ่มจังหวัด จะเกิดฐานการแปรรูปสินค้าเกษตรทั่วประเทศเป็นดารสร้างสมดุลใหม่ในการพัฒนาประเทศและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เราจะเร่งเดินหน้าอย่างรวดเร็วไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ โดยคณะที่ปรึกษาให้พิจารณาจากนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่มีอยู่แล้ว โดยเพิ่มโซนอุตสาหกรรมเกษตรอาหารในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเดิมหรือถ้าลงทุนใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องทำเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้นแต่สามารถเริ่มจากเขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือเขตชุมชนอุตสาหกรรม เพื่อรองรับ เอสเอ็มอี เกษตรสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน”

ทางด้านนายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนด 4 มาตรการการขับเคลื่อน ได้แก่
- มาตรการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warrios) เป็นมาตรการสร้างผู้ประกอบอาหารรุ่นใหม่ ให้มีนวัตกรรมอาหาร โดยให้ความสําคัญกับการผลิตอาหารอนาคต (Future Food) เช่น อาหารสุขภาพ (Healthy Foods) ผลิตภัณฑ์อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ (Food Biotechnology Products) และอาหารใหม่ (Novel Food)
- มาตรการสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต (Future Food Innovation) เป็นการยกระดับนวัตกรรมอาหารอนาคตสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยนําเอานวัตกรรมมาใช้ในการผลิต และ แปรรูปอาหาร และสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์ฉลาด (Intelligence Packaging)
- มาตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจเกษตรและอาหาร (New Marketing Platform) ทั้งในและต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์ม (Platform) ออนไลน์
- มาตรการสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม (Enabling) ที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทย และกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะดึงผู้ผลิตรายใหญ่ (Global Player) เข้ามาเป็น Big Brother มีส่วนร่วมในการพัฒนาควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาเกษตรกรเข้าสู่ระบบ Smart Farming รวมถึงการกําหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอาหาร
โดยมีการดําเนินงาน 5 ขั้นตอน ดังนี้
- กําหนดพื้นที่ใน 18 กลุ่มจังหวัด และสินค้าเป้าหมายในการส่งเสริมเขตอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ดําเนินการโดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
- จังหวัดจัดทําข้อมูลรายละเอียดศักยภาพของพื้นที่ และสินค้าเป้าหมาย พร้อมทั้งจัดทําแนวทางการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในแต่ละกลุ่มจังหวัดดําเนินการโดยสํานักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ร่วมกับสํานักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัดและศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC)
- จัดทํามาตรการส่งเสริมการลงทุน ดําเนินการโดยสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- นํามาตรการจูงใจและข้อเสนอของจังหวัดมาจัดทําแนวทางการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ดําเนินการโดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรม เกษตรและอาหาร
- นําเสนอผลการดําเนินงานต่อคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.)ให้ความเห็นชอบและเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาต่อไป

ในการกําหนดพื้นที่ และสินค้าเป้าหมายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร แบ่งออกเป็นอย่างน้อย 3 กลุ่ม สินค้า ได้แก่
- กลุ่มสินค้าเป้าหมายภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
- กลุ่มสินค้าที่มีมีมูลค่าสูงสุด 4 อันดับแรก ของจังหวัด
- กลุ่มสินค้าที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) ของจังหวัด
โดยได้กําหนดสินค้าเป้าหมาย ได้แก่
- สินค้า Commodity เช่น กลุ่มข้าวและธัญพืช กลุ่มปศุสัตว์ ประมง กลุ่มผัก ผลไม้ กลุ่มเครื่องปรุงรส อาหารพร้อมรับประทาน เกษตรอินทรีย์ เครื่องดื่มสุขภาพ (Healthy drinks) รวมถึงสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ทันสมัย บรรจุภัณฑ์ฉลาด รวมถึงอาหารที่ยกระดับด้วยการคัดแยกเกรด
- สินค้าอนาคต Future Food เช่น อาหารสุขภาพและอาหารฟังก์ชัน (Healthy and Functional Food) ผลิตภัณฑ์อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ อาหารใหม่ (Novel Food) อาหารและวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารคุณภาพสูง และธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมอาหาร เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมอาหาร
ก่อนหน้านี้ กรกอ. มีมติเห็นชอบ “โครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม” และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้
- นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายกนก อภิรดี อดีตผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยและประธานธนาคารเอสเอ็มอี นายโฆษิต สุวินิจจิต นักบริหารชั้นแนวหน้า และนายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นที่ปรึกษา
- นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ อดีตผู้ว่าวว.และอดีตผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน
- รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอําพันธุ์ เวฬุตันติ) และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นรองประธาน
- หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหัวหน้าส่วนราชการ หรือผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิรวม 22 คน เป็นอนุกรรมการ
- ผู้อํานวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
- ผู้อํานวยการสถาบันอุตสาหกรรมเกษตร เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มีอํานาจหน้าที่ในการดําเนินการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตร และอาหาร รวมถึงขับเคลื่อนการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือรูปแบบอื่นๆ ตามศักยภาพใน 18 กลุ่มจังหวัด
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2470 ครั้ง