มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2525 ครั้ง
“เฉลิมชัย” เร่งดันไทยฮับฮาลาลโลก เห็นชอบพิมพ์เขียว 2570 เดินหน้า “1 วิสัยทัศน์ 5 แนวทาง” บุกตลาด 2 พันล้านคน ดึง “สคช.” ยกระดับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพฮาลาล จับมือ “ศอบต.” ขับเคลื่อน 3 โครงการอุตสาหกรรมฮาลาลภาคใต้พร้อมขยายบทบาทไทยในเวทีโลกผนึกองค์การความร่วมมือกลุ่มประเทศอิสลาม (OIC) จัดงานฮาลาลนานาชาติเดือนมิถุนายน
วันนี้ (21 เม.ย.64) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริม สินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” (ฮาลาลบอร์ด-Halal Board) แถลงว่า อุตสาหกรรมฮาลาลมีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง และถือว่าเป็นโอกาสของประเทศไทย เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าอาหารและเกษตรอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากจีน และเป็นอันดับ 12 ของโลก และภายใต้ “5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรฯ” ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของประเทศไทยภายใต้วิกฤติการณ์โควิด-19 ในการเป็นประเทศผู้นาในการผลิตและส่งออก สินค้าอาหารและผลผลิตเกษตรมาตรฐานฮาลาลสู่ตลาดเป้าหมายใหม่กลุ่มประเทศมุสลิม 2,000 ล้านคน และผู้บริโภคสินค้าฮาลาลที่ไม่ใช่มุสลิมทั่วโลกภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และทุกภาคีภาคส่วน
ปี 2563 ที่ผ่านมา ตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั่วโลก มีมูลค่า 1,533,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (48,004,350 ล้านบาท) และประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,285,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 71,545,354 ล้านบาท) ในปี 2569 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% คิดเป็นมูลค่าเพิ่มปีละ 560 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (16.8 ล้านล้านบาท)
ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ครั้งที่ 2/2564 ได้ให้ความเห็นชอบเนื้อหาร่างวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล (1 วิสัยทัศน์ 5 แนวทาง) ซึ่งจัดทำขึ้นโดยอนุกรรมการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศผู้นำในการผลิต การแปรรูป การส่งออกและการพัฒนาสินค้าเกษตร และอาหารฮาลาลที่ได้รับความเชื่อมั่นในระดับสากล และเข้าสู่ตลาดโลกด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย
โดยใช้หลักศาสนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายในปี 2570 ผ่านการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่กำหนดทั้งหมด 5 แนวทาง ได้แก่ (1) เพิ่มศักยภาพหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาล (2) สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าเกษตรและอาหาร ด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (3) เสริมสร้างองค์ความรู้ในการผลิต และการบริหารจัดการตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงผู้บริโภค (4) เพิ่มศักยภาพทางตลาด และโลจิสติกส์ (5) ยกระดับความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งใน และต่างประเทศ
ทั้งนี้ ร่างวิสัยทัศน์ดังกล่าวเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวฮาลาลไทย (Thailand Halal Blueprint) ฉบับแรกที่มีความสมบูรณ์ประกอบด้วยเป้าหมาย วิสัยทัศน์ แผนปฏิบัติการ (Action Plan) เป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดที่สำคัญ ผ่านการดำเนินกิจกรรม และโครงการที่กำหนดในแผนปฏิบัติการโดยร่างวิสัยทัศน์ดังกล่าวจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตและการลงทุนเกี่ยวกับสินค้าและผลิตผล การเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” และคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและผลิตผลการเกษตร มาตรฐาน “ฮาลาล” ในพื้นที่ชายแดนใต้ได้รายงานความก้าวหน้าของโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมไก่และโคครบวงจรที่จังหวัดยะลา 2 โครงการ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการหลายร้อยรายในพื้นที่โครงการละกว่า 3,000 ไร่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาโรงไฟฟ้าชีวมวล และโครงการอุตสาหกรรมไก่ที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งทั้ง 3 โครงการ เป็นการทำงานบนความร่วมมือกับศอบต.อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นฮับของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลตามเป้าหมายที่วางไว้
“ที่ประชุมยังมีมติให้เปลี่ยนชื่อและปรับภารกิจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายฯ เป็นคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์และนโยบายฯ เพื่อขยายการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมฮาลาลในภาคเหนือภาคอีสานภาคกลางและภาคตะวันออก โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนที่เป็นเมืองท่าหน้าด่าน เช่น อุดรธานี เชียงราย ตาก เป็นต้น ส่วนภาคใต้มีอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลภาคใต้รับผิดชอบอยู่แล้ว โดยเร่งขับเคลื่อนโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม” ภายใต้ความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและศูนย์ AIC เพื่อเป็นฐานการผลิตแปรรูปสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรในการส่งออกไปอาเซียน เอเซียตะวันออก เอเชียใต้ เอเซียกลาง ตะวันออกกลาง อัฟริกา ยุโรป และอเมริกา
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เชิญนายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ จากสำนักงานมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ร่วมหารือแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการ และบุคลากรในอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยในยุคเกษตร 4.0 ผ่านการเสริมสร้างความรู้ และทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเป็นผู้กำหนด ซึ่งสามารถนำมาเทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติได้ โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้กำหนดมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบอาหารฮาลาล ซึ่งสอดคล้องกับหลักศาสนา และมาตรฐานสากล
อีกทั้งยังได้เชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ เพื่อยกระดับผู้ประกอบอาหารฮาลาลของไทย โดยคณะกรรมการฯ จะจัดทำความร่วมมือร่วมกับสถาบันฯ ในด้านการขยายผลสาขาอาชีพที่กำหนดมาตรฐานเสร็จแล้ว การจัดหลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์ การให้การรับรองตามมาตรฐานอาชีพ รวมถึงการจัดทำมาตรฐานอาชีพเพิ่มเติมในสาขาที่ยังขาดแคลน โดยเฉพาะอาชีพที่ปรึกษาธุรกิจด้านฮาลาล ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการฮาลาลไทย
ทางด้าน รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยรายงานความคืบหน้างานสมัชชาฮาลาลไทยแลนด์ 2021( Thailand Halal Assembly 2021 )ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 มิถุนายน 2564 ผ่านระบบ video conference ภายใต้ธีม A Virtual Way for Actual Halal World ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาส และความท้าทายต่ออุตสาหกรรมฮาลาล และการรับรองฮาลาลในยุคหลัง COVID-19 โดยงาน Thailand Halal Assembly 2021 จะมีสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาของประเทศอิสลาม (SMIIC) ภายใต้องค์การความร่วมมือประเทศอิสลาม (OIC) และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลและสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย
ภายในงานจะประกอบไปด้วยการประชุมวิชาการด้านฮาลาล และการจัดแสดงสินค้าฮาลาล รวมกว่า 4 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่
- การประชุมนานาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล2021 (The International Halal Science and Technology Conference 2021 )
- การประชุมนานาชาติฮาลาลว่าด้วยอุตสาหกรรมและธุรกิจครั้งที่14 (The 14th Halal Science, Industry and Business Virtual Conference)
- การประชุมว่าด้วยการรับรองและมาตรฐานฮาลาลนานาชาติ (The International Halal Standards and Certification Convention)
- งานนานาชาติไทยแลนด์ฮาลาลเอ็กซ์โป (Thailand International Halal Expo 2021 Virtual Expo)
“นับเป็นการขยายบทบาทของไทยในเวทีโลกครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งโดยเฉพาะการแสดงถึงมาตรฐานฮาลาลไทยและการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาล”
สำหรับการประชุมของคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 19 เม.ย. มีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ทำหน้าที่ประธานการประชุมโดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน นายสมศักดิ์ เมดาน รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อานวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ผู้แทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) นายอำนวย ศรีระแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนหน่วยงานราชการ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเอกชน ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง
โดยมีประเด็นสำคัญประกอบด้วย ความร่วมมือในด้านการพัฒนามาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพผู้ประกอบฮาลาล ผลการดำเนินงานส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล ในปี พ.ศ.2563 และปี 2564 พร้อมรับทราบรายงานการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผล การเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” คณะอนุกรรมการส่งเสริมการค้าสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล”คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตและการลงทุนเกี่ยวกับสินค้าและผลิตผล การเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” และคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและผลิตผลการเกษตร มาตรฐาน “ฮาลาล” ในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมทั้งการรายงานผลการแก้ไขปัญหาเนื้อวัวปลอมซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2525 ครั้ง