มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 3246 ครั้ง
“อลงกรณ์” เดินหน้าเพชรบุรีโมเดลขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “1 ปิด 1 เปิด” สู้ภัยโควิด ลงพื้นที่ระดมพลคนเกษตรร่วมมือภาครัฐภาคเอกชนขยายเศรษฐกิจการค้าตลาดกลางสินค้าเกษตรท่ายาง-บ้านลาดด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มยอดขายขยายการค้าช่วยเกษตรกร
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ (24 พ.ค.64) ว่า ภายใต้ข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทีมเกษตรเพชรบุรี ได้เริ่มเดินหน้าเพชรบุรีโมเดลด้วยยุทธศาสตร์ “1 ปิด 1 เปิด” อย่างต่อเนื่องหลังจากช่วยฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโควิดในชุมชน โรงงาน กลุ่มคลัสเตอร์แคลคอมพ์แล้ว
เมื่อวันอาทิตย์ (23 พ.ค.64) ที่ผ่านมา ตนและคณะ ประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัด นางวันเพ็ญ มังศรีนายพงษ์ทร วิเศษสุวรรณ รองผู้จัดการใหญ่บริษัทไปรษณีย์ไทย นายกฤชฐา โภคาสถิตย์ ประธานคณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซของกระทรวงเกษตร นายอรรถพร พลบุตร คณะที่ปรึกษา รมช.สาธารณสุข ดร.ทัดทอง พราหมณี ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ดร.บัญญัติ ศิริธนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ AIC และคณบดีคณะเกษตร พร้อมด้วยพาณิชย์จังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ประมงจังหวัด พร้อมด้วยนายพันธุ์ธัช หิรัญจิรวงศ์ประธานหอการค้า นางอารี โชติวงศ์ประธานสภาอุตสาหกรรม ประธานบริษัทประขารัฐเพชรบุรี ทีมกรมประชาสัมพันธ์ นายหยัน เยื่อใยประธานและคณะกรรมการสหกรณ์การเกษตรท่ายาง นายฟื้น พูลสมบัติ ประธานและคณะกรรมการสหกรณ์การเกษตรบ้านลาดและผู้บริหารแพลตฟอร์มไทยแลนด์โพสต์มาร์ต (Thailand postmart) ได้ลงพื้นที่ตลาดกลางสินค้าเกษตรท่ายางและตลาดกลางสินค้าเกษตรบ้านลาด
พร้อมรับฟังบรรยายสรุปและร่วมประชุมหารือโครงการพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตร ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่องทางการตลาดใหม่เสริมการค้าแบบออฟไลน์ เพื่อเพิ่มยอดขายและขยายเศรษฐกิจการค้า ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว โดยจะเร่งดำเนินการเริ่มคิดออฟการค้าออนไลน์ทั้งการค้าแบบ B2B และ B2C ภายใน 10 วัน
นอกจากนี้ยังให้ส่งเสริมเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์ สมุนไพร สินค้าประมงและปศุสัตว์ในตลาดกลางสินค้าเกษตรทั้ง 2 แห่ง ซึ่งเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ในการกำกับของกระทรวงเกษตรฯ เพียงจุดเดียวในรัศมีตั้งแต่จังหวัดชุมพร จนถึง กาญจนบุรี และสมุทรสาคร พร้อมกับให้คณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซ นำระบบสั่งซื้อล่วงหน้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ (pre order platform) มาใช้ด้วยหลังจากประสบความสำเร็จในการเปิดตลาดทุเรียนในประเทศจีน ซึ่งจะมีการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ ระบบประกันสินค้า ระบบสร้างแบรนด์สหกรณ์และสินค้าเกษตรมาใช้ด้วยและจะร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ซึ่งเป็นศูนย์ AIC เพชรบุรี ในการอบรมบ่มเพาะด้านอีคอมเมิร์ซ ซึ่งจะให้ทีม Local Hero ที่ผ่านการฝึกอบรมการขายออนไลน์ของกระทรวงเกษตรมาช่วยสนับสนุนการทำงานและการสร้างคอนเท้นต์ของสินค้าเกษตร
ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานกระทรวงเกษตร เร่งตรวจประเมินขึ้นทะเบียนรับรอง GAP และ GMP เพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
นอกจากนี้ บริษัทไปรษณีย์ไทย จะจัดตั้งหน่วยบริการพิเศษในตลาดกลางทั้ง 2 แห่ง เพื่อบริการการขนส่งทั้งระบบปกติและระบบควบคุมความเย็น (Cool container) สำหรับผักและผลไม้โดยใช้แพลตฟอร์มไทยแลนด์โพสต์มาร์ต
ในขณะที่พาณิชย์จังหวัด หอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด จะช่วยด้านข้อมูลสถาน ประกอบการและโรงงานในกลุ่มเป้าหมาย B2B สำหรับสหกรณ์การเกษตรท่ายางและบ้านลาดรับผิดชอบการพัฒนาตลาดกลางแบะการคัดเลือกเกษตรกรและสินค้าเกษตรให้พร้อมขึ้นแพลตฟอร์มออนไลน์โดยที่ประชุมกำหนดเป้าหมายให้เริ่มการขายออนไลน์ภายใน 10 วัน ภายใต้ความพร้อมทั้งต้นน้ำการผลิต การแปรรูปการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ การจัดการตลาด การพัฒนาคน การบริหารโลจิสติกส์ การบริหารธุรกิจและแพลตฟอร์มออนไลน์ ภายใต้แบรนด์สินค้าเกษตรเพชรบุรี ที่สดสะอาดปลอดภัยจากไร่ถึงลูกค้า
นายอลงกรณ์ กล่าวในตอนท้ายว่า เราระดมพลคนทุกภาคส่วนปิดเกมโควิดให้เร็วที่สุด พร้อมกับเปิดธุรกิจการค้าให้กว้างที่สุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์ 1 ปิด 1 เปิด” โดยเริ่มที่เพชรบุรีโมเดลเป็นจังหวัดแรกก่อนขยายไปจังหวัดอื่นๆ ประการสำคัญคือ เพชรบุรีอยู่ในกลุ่ม 10 จังหวัดแรก ที่รัฐบาลมีแผนจะเปิดรับการท่องเที่ยว จึงต้องเร่งมือเตรียมจังหวัดเพชรบุรี ให้พร้อมสำหรับโอกาสในอนาคต
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 3246 ครั้ง