มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1013 ครั้ง
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลน “ยาอาส” จึงสั่งการให้กรมชลประทานและกรมประมงเตรียมความพร้อมเต็มพิกัดเพื่อรับมือพายุไซโคลน “ยาอาส” ซึ่งเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงขึ้นพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งโดยระดมเครื่องจักรเครื่องมือและเจ้าหน้าที่ให้สามารถช่วยเหลือประชาชนและชาวประมงได้ทันที ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนมาล่าสุดว่าพายุไซโคลน “ยาอาส” จะเคลื่อนขึ้นฝั่งรัฐโอริสสา-รัฐกัลกัตตาของอินเดียในวันนี้ ส่งผลให้ 4 จังหวัดภาคใต้ มีฝนตกหนัก ถึง หนักมากบางแห่ง จนถึงวันที่ 27 พ.ค. โดยคลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรง มีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
“ท่านรัฐมนตรี ยังกำชับให้หน่วยงานกรมชลประทานและกรมประมงในพื้นที่ประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำ รวมทั้งการแจ้งเตือนต่างๆ ไปยังประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด”
ทางด้านนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมรับมือพายุไซโคลน “ยาอาส” ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยซ้ำซาก กำหนดเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนประชาชน การจัดสรรทรัพยากรเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เข้าไปประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที รวมทั้งติดตามวิเคราะห์แนวโน้มสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก(RULE CURVE) โดยพิจารณาปรับลดการระบายให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ใช้อาคารชลประทานในการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการรับมือพายุไซโคลน “ยาอาส” แล้ว ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามสถานการณ์ฝนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณฝนลดลงในพื้นที่ตอนบนของประเทศจึงสั่งการให้กรมชลประทานเร่งดูแลบริหารจัดการน้ำและประสานการทำงานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ทางตอนบนของประเทศเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้ทางตอนบนยังคงมีฝนตกน้อย ประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่องหรือข้าวนาปีได้อย่างเต็มศักยภาพ
สำหรับสถานการณ์น้ำและการจัดสรรน้ำล่าสุดวันนี้ กรมชลประทาน รายงานว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 35,564 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันประมาณ 40,504 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,540 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 34 ของความจุอ่างฯ รวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 16,331 ล้าน ลบ.ม. สำหรับการเตรียมพร้อมใช้พื้นที่ลุ่มต่ำรองรับน้ำนอง กรมชลประทานได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ด้วยการใช้พื้นที่อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำและพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา 13 ทุ่ง ได้แก่ 1) ทุ่งฝั่งซ้ายชัยนาท-ป่าสัก 2) ทุ่งป่าโมก 3) ทุ่งเจ้าเจ็ด 4) ทุ่งบางกุ้ง 5) ทุ่งผักไห่ 6) ทุ่งโพธิ์พระยา 7) ทุ่งเชียงราก 8 ) ทุ่งท่าวุ้ง 9) ทุ่งบางกุ่ม 10) ทุ่งบางบาล-บ้านแพน 11) ทุ่งพระยาบรรลือ 12) ทุ่งรังสิตใต้ 13) ทุ่งบางระกำ รวมพื้นที่รับน้ำประมาณ 1,410,267 ไร่
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1013 ครั้ง