“กระทรวงเกษตรฯ” ชงงบเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรจากผลกระทบโรคลัมปีสกิน

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2184 ครั้ง

“กระทรวงเกษตรฯ” ชงงบเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรจากผลกระทบโรคลัมปีสกิน “เฉลิมชัย” มอบกรมปศุสัตว์ผนึก “ม.จุฬาฯ.-ม.เกษตรฯ.” เป็นแกน AIC เร่งพัฒนาวัคซีนสัตว์จากพืช (Plant based Vaccine) เมดอินไทยแลนด์เป็นครั้งแรก

วันนี้ (9 มิ.ย.64) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายประภัตร โพธสุทน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบนโยบายให้กรมปศุสัตว์เร่งเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปีสกิน พร้อมกับเร่งพัฒนาวัคซีนลัมปีสกินจากพืชด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า plant based vaccine โดยความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์กับบริษัทใบยาไฟโตฟาร์มของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยอื่นที่เป็นศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มทดสอบวัคซีนได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าโดยโรงงานวัคซีนของกรมปศุสัตว์ พร้อมผลิตวัคซีนดังกล่าวทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในการผลิตวัคซีนสัตว์จากพืช ซึ่งจะเริ่มจากวัคซีนลัมปีสกิน

ทางด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีที่เกิดการระบาดของโรคลัมปีสกิน กับโค-กระบือของเกษตรกร ในหลายพื้นที่ของประเทศ จนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ได้รับผลกระทบจากความสูญเสียโค-กระบือไปนั้น กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรเจ้าของโค-กระบือเหล่านั้น จึงได้เตรียมการเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปีสกิน ดังนี้

ในกรณีที่เป็นการชดเชยกรณีสัตว์ตายหรือป่วยตาย โดยดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 และมีขั้นตอน คือ

  1. รวบรวมข้อมูลความเสียหาย
  2. รวบรวมข้อมูลเสนอ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ปศุสัตว์อำเภอ)
  3. รวมรวมข้อมูลเสนอ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ปศุสัตว์จังหวัด)
  4. ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ ปศุสัตว์จังหวัด หรือกรมปศุสัตว์

ทั้งนี้ ชดเชยตามจริงแต่ไม่เกินรายละ 2 ตัว เป็นเงินสดผ่านบัญชีเงินฝากของเกษตรกร ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

หน่วย : บาท/ตัว
อายุโค – กระบือ น้อยกว่า 6 เดือน 6,000 – 8,000
6 เดือน ถึง 1 ปี 12,000 – 14,000
มากกว่า 1 ปี ถึง 2 ปี 16,000 – 18,000
มากกว่า 2 ปี 20,000 – 22,000

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์รายใด ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคลัมปีสกิน และมีความประสงค์จะขอรับการเยียวยา ขอให้ติดต่อสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ใกล้บ้าน หรือศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ทางโทรศัพท์ 0-2653-4444 ต่อ 3315 และ e-mail : disaster@dld.go.th

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2184 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน