มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1952 ครั้ง
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ ในฐานะอดีตรัฐมนตรี และอดีต ส.ส. โพสต์เรื่อง
“อย่าให้นายกรัฐมนตรีปักหมุด 120 วัน เปิดประเทศคนเดียว” ในเฟสบุ๊คและไลน์ส่วนตัว วันนี้ (17 มิ.ย.) มีใจความว่า วันนี้ตั้งใจเขียนความเห็นและข้อเสนอวาระโควิด (Covid Agenda) 6 ข้อ ให้ท่านนายกรัฐมนตรี และสาธารณชนคนไทยได้อ่านในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เคยเผชิญวิกฤตของประเทศมาหลายครั้งทั้งวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 และวิกฤติซับไพรมวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 ในฐานะอดีตรัฐมนตรีและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
“อย่าให้นายกรัฐมนตรีปักหมุด 120 วัน เปิดประเทศคนเดียว” ผู้นำต้องกล้าที่จะนำประเทศพาประชาชนไปข้างหน้าและต้องพร้อมบริหารความเสี่ยงไปในเวลาเดียวกัน การบริหารในช่วงวิกฤตจะละล้าละลัง กลัวๆ กล้าๆ ไม่ได้ เพราะเวลาที่ผ่านไป คือการสูญเสียโอกาสและความยากลำบากมากขึ้นทุกขณะของประชาชนและประเทศชาติ
ถ้าล็อคดาวน์นานไปประชาชนจะไม่มีกินและธุรกิจจะปิดตัวเองมากขึ้น จนเครื่องยนต์เศรษฐกิจดับทุกสาขาทั้งภาคการท่องเที่ยว ภาคการบริการ ธุรกิจการเงิน การลงทุนพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การค้าระหว่างประเทศ และการเงินการคลังของประเทศ รวมทั้งขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดต่ำลงไปเรื่อยๆ
การตัดสินใจประกาศวันดีเดย์ทำให้เกิดเป้าหมายและความหวัง แต่ขณะเดียวกันเราต้องเผชิญกับ 2 ความเสี่ยง
ความเสี่ยงแรกคือสงครามโควิด19
ความเสี่ยงที่สองคือสงครามเศรษฐกิจ
หากบริหารได้ดี ความเสี่ยงและความสูญเสียจะลดลงมา ประเทศไทยและคนไทยจะเริ่มทำมาหากินได้เศรษฐกิจจะเริ่มขยับขยายตัวได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทุกคนต้องร่วมมือกันฟันฝ่าผ่าความเสี่ยงที่เรียกว่า Next normal ร่วมกัน
ผมมีความเห็นเป็นข้อเสนอโดยสุจริตใจ ประเด็นวาระโควิด 6 ข้อ เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงและการดูแลประชาชนกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
- วัคซีนต่างประเทศ ต้องเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายจัดหาและช่วยระดมฉีดให้ได้ตามเป้าหมายโดยเร็วที่สุด ยิ่งฉีดเร็วฉีดมาก ยิ่งลดความเสี่ยงของสงครามโควิด-19 ได้มากที่สุด อย่าให้พลาดพลั้งเหมือนช่วงแรกๆ ของการจัดหา
- วัคซีนไทย ต้องสนับสนุนเงินทุนให้มากที่สุด กับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในการผลิตวัคซีนของเราเองในทุกความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีวัคซีนโดยเฉพาะเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิดจากพืช (Plant based vaccine technology) ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือนสามารถผลิตวัคซีนใหม่ๆ ได้ ซึ่งใช้รับมือกับกรณีโควิดกลายพันธุ์ หรือโควิดสายพันธุ์ต่างชาติที่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยทั้งก่อนและหลังการเปิดประเทศ (เมื่อเดือนที่แล้วผมได้ไปหารือกับคณะผู้บริหารและทีมนักวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมดูความก้าวหน้าของการผลิตวัคซีนจากพืชของบริษัทใบยาไฟโตฟาร์มซึ่งเป็นสตาร์ทอัพของจุฬาฯ มาแล้ว ซึ่งได้ผลดีมากในการฉีดทดสอบกับลิงและหนู โดยพร้อมจะทดสอบกับคนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ กำหนดไปประชุมหารือกับท่านอธิการบดีบัณฑิตที่จุฬาลงกรณ์ วันที่ 25 มิถุนายนนี้ ส่วนที่แคนาดามีบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกร่วมกันพัฒนาวัคซีนโควิดจากพืชและประกาศจะนำออกสู่ตลาดในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า)
- การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว เป็นการจุดเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่มีทั้งโอกาสและความเสี่ยง เมื่อกล้าเปิดก็ต้องเปิดแบบมีกลยุทธ์ กล่าวคือต้องไม่บริหารแบบท็อปดาวน์เพียงอย่างเดียว จึงไม่กำหนดจากข้างบนให้เริ่มที่ภูเก็ตหรือบางพื้นที่ตามที่ศบค.ตั้งเป้าหมายแรก แต่ควรเปิดหลายๆ พื้นที่หลายๆ จังหวัดทั่วประเทศพร้อมๆ กัน โดยให้จังหวัดที่ต้องการเปิดรับนักท่องเที่ยวเสนอแผนและมาตรการป้องกันโควิดให้ศบค.พิจารณาแบบเสนอจากเบื้องล่าง ถ้าเห็นว่าทำได้ก็เดินหน้าโดยรัฐบาลให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณและเครื่องมือกำลังคน นี่คือกลยุทธ์การบริหารจัดการประเทศไม่ใช่บริหารจังหวัด เมื่อกล้าเปิดประเทศก็ต้องคิดใหญ่ทำใหญ่ หากเป็นเช่นนี้เศรษฐกิจจะมีฐานขยายตัวกว้างขึ้นและเร็วขึ้น “ล้อแห่งธุรกิจจะกลับมาหมุน” ตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ต้องเข้าใจว่า ประชาชนและธุรกิจทั่วประเทศ (ไม่ใช่แค่ภูเก็ต) ที่ติดหล่มโควิดมากว่าปีแล้ว ลมหายใจใกล้หมด จึงต้องทำเร็วที่สุดและเปิดในทุกพื้นที่ทีมีความพร้อมในมาตรการป้องกันโควิด-19 ดีที่สุด รวมทั้งต้องกระจายอำนาจและมอบอำนาจจริงๆให้ราชการส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นอย่ารวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลางอย่างที่ผ่านมา
- การพยุงประชาชนและประเทศ ภาครัฐต้องดำเนินการเยียวยาทุกมาตรการต่อไปแม้จะต้องใช้งบประมาณหรือเงินกู้มาเยียวยาโดยเฉพาะคนยากคนจนเกษตรกร และเอสเอ็มอี อย่ากังวลเรื่องเพดานเงินกู้ มากนัก ประเทศไทยมีศักยภาพมากพอในการสร้างรายได้ถ้าบริหารถูกทิศถูกทางการใช้หนี้ในอนาคตก็ไม่ใช่เรื่องยาก ตอนนี้ต้องช่วยประชาขนช่วยธุรกิจให้อยู่รอดเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในวันข้างหน้า
- ความรับผิดชอบร่วมกันต่อNext normalของการเปิดประเทศ ผมคิดว่าเราทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมรับผิดชอบร่วมแรงร่วมใจฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน อย่าให้เป็นภาระหน้าของรัฐบาลฝ่ายเดียว เพราะวิกฤตครั้งนี้ใหญ่กว่าทุกสงครามที่ประเทศของเราเคยเผชิญ มีเดิมพันที่สูงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เราจะแพ้ไม่ได้ ดังนั้นในวันนี้ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ทั้งสภาผู้แทนและวุฒิสภา ภาครัฐภาคเอกชน ทุกภาคีภาคส่วนต้องผนึกกำลังกัน เอาการเมืองไว้ข้างหลัง เอาบ้านเมืองไว้ข้างหน้า
- การบริหารจัดการต้องโปร่งใสไร้ทุจริต ต้องไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวหรือพรรคพวกหรือผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ว่าในรูปแบบใด และต้องจัดการเฉียบขาดกับใครก็ตามที่ทุจริตประพฤติมิชอบกับเรื่องการจัดหาวัคซีนหรือการจัดซื้อเวชภัณฑ์ใดๆ ในทุกระดับ ก่อนหน้านี้ผมเสนอยุทธศาสตร์ “1 ปิด 1 เปิด” โมเดลเพชรบุรีและเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมร่วมกับทุกภาคีภาคส่วน คือ “ปิดโควิด เปิดเศรษฐกิจ” ให้เร็วที่สุดไปพร้อมๆ เพราะถ้าล็อคดาวน์โควิดอย่างเดียวก็อดตายทั้งประเทศ หรือถ้าเปิดประเทศโดยไม่ป้องกันโควิดดีพอก็จะระบาดใหญ่ป่วยตายทั้งประเทศ ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายเปิดเพชรบุรีตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งเผอิญเป็นแนวทางเดียวกันกับที่ท่านนายกรัฐมนตรีประกาศเมื่อวานนี้ ผมจึงเห็นด้วยกับการปักหมุด 120 วันเปิดประเทศ และขอแสดงความเห็นมา ณ โอกาสนี้ครับ
ขอเพียงอย่าให้เป็นการปักหมุดเปิดประเทศของท่านนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว เพราะสงครามโควิดและสงครามเศรษฐกิจรุนแรงและวิกฤตเกินกว่าใครคนใดคนหนึ่งจะรับมือได้ ประการสำคัญคือ ประเทศนี้เป็นของทุกคนและอนาคตก็เป็นของพวกเราทุกคน
อลงกรณ์ พลบุตร
17 มิถุนายน 2564
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1952 ครั้ง