กฟผ. เตรียมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2471 ครั้ง

กฟผ. เตรียมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ในรูปแบบออนไลน์ ลดความเสี่ยงประชาชนตามมาตรการป้องกันโควิด-19

กฟผ. และบริษัท ซีคอท จำกัด พร้อมจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ครั้งที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 วันที่ 29 มิถุนายน 2564 ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนสูงสุด

นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 กฟผ. ยังพร้อมเคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต โดยที่ผ่านมา กฟผ. ได้ช่วยเหลือด้านงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ เพื่อป้องกันและบรรเทาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ยังคงต้องดำเนินต่อไป ปัจจุบัน กฟผ. มีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 โดยร่วมกับ บริษัท ซีคอท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) มีกำหนดจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ครั้งที่ 2 ของโครงการฯ ในวันอังคารที่ 29 มิถุนายน 2564 เวลา 09.30-10.30 น. และเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงกำหนดการจัดรับฟังความคิดเห็นฯ ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถรับทราบรายละเอียดโครงการ โดยจะมีการนำเสนอผลการศึกษาพร้อมมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายงาน EIA พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นก่อนดำเนินโครงการผ่านไปรษณียบัตรหรือแบบประเมินออนไลน์ได้ตั้งแต่ วันนี้-30 มิถุนายน 2564 โดยประชาชนสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นฯ พร้อมลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมออนไลน์ และแสดงความคิดเห็นผ่าน QR Code ได้ที่เว็บไซต์ www.egat.co.th

สำหรับการจัดรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 2 นี้ บริษัทฯ จะนำเสนอรายละเอียดโครงการ ผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ศึกษาโครงการฯ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ชุมชนรอบพื้นที่โครงการในรัศมี 5 กิโลเมตร ส่วนราชการ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน นักวิชาการ ประชาชนที่สนใจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแสดงข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากการจัดรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธุ์ 2563 ซึ่งบริษัทฯ จะรวบรวมทุกข้อเสนอแนะและข้อห่วงกังวลจากการรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 2 มาปรับปรุงร่างรายงานและกำหนดมาตรการฯ สิ่งแวดล้อมให้มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำรายงาน EIA ฉบับสมบูรณ์นำเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 เป็นโครงการที่ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในเขตนครหลวงและปริมณฑลในระยะยาว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นศูนย์กลางการใช้ไฟฟ้าของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศ เพราะหากเกิดเหตุสุดวิสัย อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาพรวมได้ ดังนั้น กฟผ. จึงได้พัฒนาโครงการเพื่อเสริมความมั่นคงและตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 มีกำลังผลิตติดตั้งสูงสุด 830 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ในปี 2571 โดยจะก่อสร้างในบริเวณพื้นที่สำนักงานกลาง กฟผ. และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เนื่องจากมีความพร้อมในด้านพื้นที่และระบบส่งไฟฟ้า

ทั้งนี้ ก่อนการจัดรับฟังความคิดเห็นฯ บริษัทฯ และ กฟผ. ได้ดำเนินการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการผ่านช่องทางที่หลากหลาย ได้แก่ การเข้าพบหัวหน้าส่วนราชการ การส่งจดหมายเชิญ ป้ายประชาสัมพันธ์ เว็บไซต์ กฟผ. และเว็ปไซต์ บริษัท ซีคอท จำกัด เป็นต้น เพื่อให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวาง

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2471 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน