“เฉลิมชัย” จับมือ “จุฬาฯ” เดินหน้าผลิตวัคซีน “ลัมปี สกิน” จากพืช

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2159 ครั้ง

“เฉลิมชัย” จับมือ “จุฬาฯ” ขับเคลื่อนเทคโนโลยีเกษตร 4.0 เดินหน้าผลิตวัคซีน “ลัมปี สกิน” จากพืชเป็นโครงการเร่งด่วนตามด้วยซิลิคอนวัลเลย์เกษตรไฮเทค เมืองนวัตกรรมแก่งคอยตั้งเป้าสร้างรายได้ 2,500 ล้าน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ (26 มิ.ย.64) ภายหลังนำคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ประชุมหารือร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุม202 ชั้น 2 อาคารจามจุรี 4 สำนักงานอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรรมระหว่างกระทรวงเกษตรกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการแรก คือ การผลิตวัคซีนสัตว์ด้วยเทคโนโลยีโปรตีนพืช (Plant based Protein) เริ่มจากวัคซีนลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในไทยที่แพร่ระบาดในโค-กระบือหลายสิบจังหวัด และต้องนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์และบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมดำเนินการทันที โดยวางเป้าการผลิตเพื่อใช้ในประเทศทดแทนการนำเข้าและขยายสู่การส่งออก นับเป็นประเทศแรกๆ ของโลก ที่ใช้เทคโนโลยีโปรตีนพืชผลิตวัคซีนสัตว์โดยทีมนักวิจัยของไทย

“วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์วันหนึ่งที่สำคัญต่อการพลิกโฉมหน้าภาคเกษตรกรรมของไทย เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตกลงจับมือร่วมทำงานกับกระทรวงเกษตรฯ เพราะการพัฒนาภาคเกษตรในยุคปัจจุบันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ต้องใช้วิทยาการและเทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญ นอกจากนี้จะมีโครงการความร่วมมืออื่นๆ ที่สำคัญ เช่น โครงการพัฒนาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ, โครงการส่งเสริมสตาร์ทอัพเกษตร, โครงการพัฒนาฮาลาล, โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง, โครงการการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart farmer ) เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ขอฝากไว้เป็นพิเศษโดยมอบหมายให้ที่ปรึกษา อลงกรณ์ พลบุตร ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร AIC เป็นผู้ประสานงานกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้จะมีการทำเอ็มโอยู ภายในสัปดาห์หน้า”

ทางด้านศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยินดีและพร้อมร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเต็มที่ ในการต่อยอดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมโดยทันที โดยเฉพาะการพัฒนาวัคซีนสัตว์จากพืชเป็นโครงการนำร่องโครงการแรก รวมทั้งเสนอให้กระทรวงเกษตรฯ ใช้พื้นที่ของสยามสแควร์อินโนเวชั่นดิสตริคท์ (Siamsquare Innovation District) ในการนำเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมมาเปิดแสดงและสาธิตต่อยอดการลงทุนนวัตกรรมใหม่ๆ ของศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ทั่วประเทศ รวมทั้งการดำเนินโครงการแก่งคอยอินโนเวชั่นดิสตริคท์ (Kaengkoi Innovation District (KID), โครงการเกษตรอัจฉริยะ ( Smart Farming), โครงการสมาร์ท โอท็อป (Smart OTOP), โครงการดิจิตอลไอทีวัลเลย์ (Digital IT Valley)

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า โครงการความร่วมมือที่จะตามมาโดยเร็ว คือ โครงการพัฒนาแก่งคอยอินโนเวชั่นดิสตริคท์ หรือเมืองนวัตกรรมแก่งคอย ในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อำเภอแก่งคอยจังหวัดสระบุรี จะร่วมกันพัฒนาคล้ายกับซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) ในสหรัฐอเมริกาที่ริเริ่มดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีสตาร์ทอัพกว่า 200 บริษัท ที่พร้อมต่อยอดการลงทุนสตาร์ทอัพกลุ่มเทคโนโลยีเกษตรและอาหาร รวมทั้ง (Foodtech และ Agritech Start-Up) โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งเป้าหมายเบื้องต้นจะสร้างคนสร้างงานสร้างรายได้กว่า 2,500 ล้านบาท

สำหรับคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ประกอบด้วย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองปลัดกระทรวง ผู้ช่วยปลัดกระทรวง เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบดีกรมปศุสัตว์ รองอธิบดีกรมประมง รองอธิบดีกรมวิชาการ คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรี เป็นต้น

ส่วนคณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี และทีมนักวิจัยอีกหลายคน

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2159 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน