“ราชทัณฑ์” เปลี่ยนคุกเป็นศูนย์เรียนรู้ “คืนคนดี สู่สังคม”

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2262 ครั้ง

ราชทัณฑ์ ผุดโครงการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง น้อมนำโครงการพระราชทานฯ โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ เปลี่ยนคุกเป็นศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา คืนคนดี มีคุณค่าสู่สังคมอย่างยั่งยืน

“เปลี่ยนผู้กระทำผิดคนเดิมเป็นคนใหม่ ด้วยกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัย เพื่อคืนคนดี มีคุณค่าสู่สังคม” นับเป็นหนึ่งในภารกิจของกรมราชทัณฑ์ ที่นอกจากจะรับผิดชอบบทบาทในการควบคุม ดูแลผู้ต้องขังมิให้หลบหนีเพื่อความปลอดภัยของสังคมแล้ว การพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังนับเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะปัจจุบัน “คุก” ไม่ได้มีไว้เพื่อคุมขัง หรือแก้แค้นทดแทนเพียงอย่างเดียว แต่มีไว้เพื่อปรับปรุง แก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ให้เปลี่ยนเป็นคนใหม่ ไม่หวนกลับไปก้าวพลาด จนนำไปสู่การคืนคนดี มีคุณค่าสู่สังคมได้ในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ดี การพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง จำต้องอาศัยทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ตั้งแต่การเปลี่ยนกระบวนการคิด (Mindset) พฤติกรรม (Behavior) ไปจนถึงการปรับตัวเข้ากับสังคม สิ่งแวดล้อม และการสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อเลี้ยงตัวเอง และครอบครัว พร้อมกลับคืนสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญที่สุด คือ กระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย และการติดตามผู้พ้นโทษ ซึ่งต้องดำเนินการให้สามารถสอดประสานเป็นแนวทางเดียวกันและปรับใช้ได้ในสังคมทุกยุคทุกสมัย

กรมราชทัณฑ์ จึงได้น้อมนำโครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” อันเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงเล็งเห็นว่าผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกไปนั้น อาจจะได้รับผลกระทบด้านสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่อาจทำให้การใช้ชีวิตของผู้พ้นโทษยากลำบาก ฉะนั้น โครงการพระราชทานฯ โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ ถือเป็นโครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ที่เป็นพื้นฐานในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ และการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวภายหลังพ้นโทษได้อย่างยั่งยืน

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” ระยะแรกถือเป็นโครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย สำหรับผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการฯ ขึ้น เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ด้วยการสร้างต้นแบบการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก เพื่อนำไปปรับใช้ในทุกเงื่อนไขของพื้นที่ ให้ผู้พ้นโทษสามารถพึ่งพาตนเอง ตลอดจนช่วยเหลือและแนะนำผู้ที่เดือดร้อนได้ภายหลังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ โดยมุ่งไปที่การปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด หรือ Mindset ที่จะช่วยพัฒนาทักษะทัศนคติ รวมถึงพฤติกรรมของผู้ต้องขัง ให้มีวินัย มีความรักต่อตนเองและผู้อื่น มีความสามัคคี และช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้เป็นอย่างดี

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบายถึงรูปแบบการฝึกอบรมของโครงการฯ ว่า ผู้ต้องขังจะได้รับการอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ เป็นระยะเวลา 14 วัน ด้วยการน้อมนำ สืบสาน และต่อยอดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยประยุกต์เป็นเกษตรทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ด้วยการ “ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา” โดยการแบ่งพื้นที่ในเรือนจำและทัณฑสถานเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการทำโคกหนองนา เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ลงมือปฏิบัติ และแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์จริง ผสานกับการเรียนรู้จากวิทยากร “ครูพาทำ” และผู้เชี่ยวชาญในด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่มาร่วมถ่ายทอดหลักการทำการเกษตรที่ถูกต้อง ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม นำไปปรับใช้ได้จริงในทุกสถานการณ์

ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ ได้ดำเนินการฝึกอบรมโครงการให้แก่กลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือ ในกลุ่มผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการฯ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ที่นอกจากจะได้รับความรู้เพื่อส่งต่อให้แก่ผู้ต้องขังแล้ว ยังสามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้จริง โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการฯ ได้มีทั้งเจ้าหน้าที่ และผู้ต้องขังที่ผ่านการฝึกอบรมและกำลังเข้ารับการฝึกอบรม แบ่งเป็น 9 รุ่น รวมทั้งสิ้น 126,662 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2564)

นายอายุตม์ฯ ยังกล่าวอีกว่า ภายหลังพ้นโทษแล้ว กรมราชทัณฑ์ จะมีการติดตามผู้พ้นโทษทุกรายที่ผ่านการอบรม ร่วมกับ จิตอาสาพระราชทาน 904 ผ่านศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำต้นแบบประจำภาค หรือ CARE Model ประจำภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ศูนย์ CARE เรือนจำกลางสมุทรปราการ ดูแลพื้นที่ภาคกลาง, ศูนย์ CARE เรือนจำกลางเชียงใหม่ ดูแลพื้นที่ภาคเหนือ, ศูนย์ CARE เรือนจำกลางนครราชสีมา ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ศูนย์ CARE เรือนจำกลางสงขลา ดูแลพื้นที่ภาคใต้ โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางติดตามจัดทำระบบบันทึกข้อมูล เพื่อให้ความช่วยเหลือ รวมถึงติดตามการนำความรู้เกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ไปใช้ประโยชน์ภายหลังพ้นโทษ เพื่อต่อยอดในการนำบุคคลดังกล่าวมาเป็น บุคคลต้นแบบ และร่วมเป็นวิทยากรจิตอาสาถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดการใช้ชีวิตพอเพียงภายหลังพ้นโทษ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ในระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2564 สามารถติดตามผู้ที่ผ่านการอบรม จำนวน 28,953 คน มีผู้พ้นโทษที่ได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปประกอบอาชีพเกษตรกร จำนวน 3,797 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2564)

นายอายุตม์ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากผลสำเร็จต่างๆ ที่ผ่านมาของโครงการ ทำให้ปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์ได้กำหนดให้โครงการพระราชทานฯ “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” เป็นหลักสูตรภาคบังคับในการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยให้กับผู้ต้องขังทุกกลุ่ม ในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นโครงการที่สามารถนำไปปรับใช้ภายหลังพ้นโทษได้จริง และสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังเป็นโครงการที่ช่วยปรับเปลี่ยนความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้ต้องขัง ให้สามารถมองเห็นคุณค่าในตัวเอง สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ พร้อมเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ สมดังเจตนารมณ์ของกรมราชทัณฑ์ได้เป็นอย่างดี

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2262 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน