มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2233 ครั้ง
“นางเมทินี ชโลธร” ประธานศาลฎีกา ห่วงใยความปลอดภัยช่วงโควิด-ความสะดวกบริหารคดีแพ่ง ออกประกาศใช้วิธีการอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักยื่นฟ้อง-นั่งพิจารณา-อ่านคำพิพากษา มีผลตั้งแต่ 23 ก.ค.64
นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ที่ทำให้ต้องคำนึงถึงเรื่องสุขอนามัยอย่างมาก เฉพาะอย่างยิ่งความปลอดภัยที่ต้องป้องกันความเสี่ยงการรับเชื้อ ที่ต้องเน้นการเว้นระยะห่างสัมผัสใกล้ชิดระหว่างบุคคล และการระมัดระวังต่อการเดินทางไปยังสถานที่มีผู้คนพลุกพล่าน โดยสถานการณ์ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องนั้น ในส่วนของผู้ที่อาจจะมีข้อพิพาทเกิดขึ้นเป็นคดีหรือต้องใช้สิทธิทางศาลระหว่างนี้อาจเกิดความกังวลตามมาว่าหากมีความจำเป็นต้องขึ้นศาลจะทำอย่างไร ซึ่งนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกาตระหนักถึงความไม่สะดวกของคู่ความและความปลอดภัยของทั้งคู่ความและบุคลาการศาลยุติธรรมในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ซึ่งจะต้องบริหารจัดการคดีในวิถีใหม่ new normal
ล่าสุดประธานศาลฎีกาจึงได้ลงนามประกาศ “ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการดำเนินคดีแพ่งระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564” ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.64 เป็นต้นไป
โดยสาระสำคัญของระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการดำเนินคดีแพ่ง ฯ ได้กำหนดให้ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ในการยื่นคำฟ้อง การนั่งพิจารณา การอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟัง ซึ่งการดำเนินการนั้นให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 และประกาศสำนักงานศาลยุติธรรมที่เกี่ยวข้องเท่าที่พอจะใช้บังคับได้
สำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ในการยื่นคำฟ้องนั้น เช่น บริการฟ้องออนไลน์ผ่านระบบ e-Filing, การติดตามผลคดี-การขอคัดคำสั่ง/คำพิพากษา ผ่านระบบ CIOS โดยการส่งหมายสามารถส่งผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-mail ได้
ส่วนการนั่งพิจารณาและการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟัง สามารถใช้การประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) ได้ผ่านโปรแกรมบนสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ เช่น Google meet, โปรแกรม Zoom, Cisco WebEx, Microsoft team หรือผ่านแอปพลิเคชั่นอื่น โดยเมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ในคดีแล้วให้เจ้าหน้าที่นำเข้าข้อมูลคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นลงในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของศาลให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันด้วย เพื่อให้คู่ความตรวจดูและขอคัดสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ขณะที่เพื่อให้การปฏิบัติตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการดำเนินคดีแพ่ง ฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ละศาลอาจกำหนดแนวทางปฏิบัติของแต่ละศาลเองได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวย้ำว่า ประธานศาลฎีกาในฐานะผู้บริหารสูงสุดของศาลยุติธรรม ตระหนักอย่างยิ่งถึงการอำนวยความยุติธรรมที่ต้องเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม ทั่วถึง และปลอดภัยในด้านสุขอนามัยของทุกคนที่เกี่ยวข้องที่ต้องจัดการคดีในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค ขณะเดียวกันช่วงที่ผ่านมาศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรม ได้พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์และช่องทางการบริการผ่านระบบออนไลน์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนให้คู่ความและทนายความใช้บริการทางศาลผ่านทางออนไลน์ได้สะดวก ขณะที่หากมีการพิจารณาคดีศาลก็ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการคัดกรอง รวมทั้งมาตรการทางสาธารณสุขที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2233 ครั้ง