มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2172 ครั้ง
“ราชทัณฑ์” จับมือ “มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี” ขับเคลื่อน-ติดอาวุธทางปัญญาให้ผู้ต้องขัง ก่อนออกไปทำงานนิคมอุตสาหกรรม “สมุทรปราการโมเดล”
วันนี้ (26 ก.ค.64) กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยความคืบหน้าการเร่งขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ที่นำร่องแนวคิด “สมุทรปราการโมเดล” โดยการนำผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษ ออกไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการโดยติดกำไล EM
ขณะนี้ กรมราชทัณฑ์ได้เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1.กำหนดคุณสมบัติของผู้ร่วมโครงการ อาทิ นักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ทำผิดซ้ำไม่เกิน 2 ครั้ง (ยกเว้นกลุ่ม 7 ประเภทเปราะบาง) เป็นต้น 2.คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ 1,000 คน 3.จัดฝึกอบรมเตรียมความพร้อมก่อนออกไปทำงาน รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 9 – 13 สิงหาคม 2564 (รูปแบบออนไลน์) เช่น ธรรมะกับแนวทางการใช้ชีวิตให้เป็นสุข, จิตวิทยาการเข้าใจตนเองและการพัฒนาตนเอง, ความรู้ความเข้าใจและพื้นฐานการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย, ความรู้ความเข้าใจเรื่องยาเสพติดให้โทษ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การป้องกันและดูตัวเอง, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป กฎหมายแรงงาน การทำบัญชีครัวเรือน และภาษีอากร เป็นต้น โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ เสมือน “วัคซีนเข็มที่ 2 เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน” และสร้างความเชื่อมั่น ก่อนออกไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรม และจะทยอยอบรมให้ครบตามแผนงานที่กำหนดไว้ต่อไป
นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ยังได้เสียงตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการหลายแห่ง เช่น บริษัท ไต้ทงแมชชีนเนอรี่ จำกัด, บริษัท เอคอน คอนกรีต จำกัด, บริษัท วีเอส 09 ออริจินอลเฮิร์บ จำกัด ฯลฯ ซึ่งหากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย คาดว่าจะสามารถรับผู้พ้นโทษเข้าเป็นพนักงานประจำรอบแรกได้ราว 300 – 400 คน และในอนาคตอันใกล้ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น บริษัท เดลต้า อิเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลกที่ส่งให้กับ GM และ BMW ได้ตอบรับและยินดีรับผู้พ้นโทษจากโครงการนี้ โดยจะนำร่องได้ถึง 1,000 คน เพื่อบรรจุเป็นพนักงานโดยไม่จำกัดวุฒิการศึกษาหรือทักษะมาก่อน พร้อมทั้งจะมีการฝึกงานให้ก่อนทำงานอีกด้วย
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2172 ครั้ง