“เฉลิมชัย” ปลื้มนายกฯ อุดหนุนผลไม้ช่วยเกษตรกรในสถานการณ์โควิด-19

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2032 ครั้ง

รมว.เฉลิมชัย เผย เร่งเดินหน้าโครงการ “เกษตรกร Happy” ประสานไปรษณีย์และผู้ประกอบการเอกชน ขนส่งผลไม้ภาคใต้สู่ผู้บริโภคโดยตรง ปลื้มใจนายกรัฐมนตรีอุดหนุนผลไม้ช่วยเกษตรกรและส่งมอบให้บุคลากรด่านหน้า ร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19

วันนี้ (4 ส.ค.64) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ กล่าวว่า ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดทำโครงการ “เกษตรกร Happy” โดยขอความร่วมมือไปยัง บริษัท ไปรษณีย์ไทย เปิดให้บริการเป็นกรณีพิเศษเร่งด่วนพร้อมกัน 105 สาขาใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ให้นำส่งผลไม้จากเกษตรกรถึงผู้รับในพื้นที่สีแดงทุกพื้นที่ ซึ่งได้รับการยืนยันว่า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จะเร่งกำชับไปรษณีย์ทุกสาขาดำเนินการตามข้อเสนอ แต่การจัดส่งอาจช้ากว่าปกติ 1 วัน เพราะต้องใช้สาขาปลายทางที่อยู่นอกพื้นที่สีแดงผลัดเวรกันส่ง เนื่องจากก่อนหน้านี้พนักงานบางคนของสาขาในพื้นที่สีแดงติดโควิด-19 โดยไปรษณีย์ไทยจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อช่วยชาวสวน ซึ่งขอขอบคุณบริษัทไปรษณีย์ไทย และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่ร่วมมือ นอกจากนี้ได้ขอความร่วมมือไปยังบริษัทเคอรรี่ ซึ่งตกลงที่จะเปิดบริการอีกครั้งเช่นกัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากระบบขนส่งเป็นกลไกสำคัญในการค้าขายและระบายผลไม้ออกจากแหล่งผลิตทั้งการค้าแบบออฟไลน์และออนไลน์

ทั้งนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมห่วงใยเกษตรกร โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯประสานกับหน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเมื่อวานนี้นายกฯ ซื้อผลไม้ทั้งมังคุดภาคใต้และลำไยภาคเหนือ แล้วส่งมอบเป็นกำลังใจไปให้กับเจ้าหน้าที่และจิตอาสาด่านหน้าด้วย

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า มอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรฯ เดินทางไปภาคใต้ เพื่อช่วยแก้ไขขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งการขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าผลไม้ (ล้ง) ทั้งค้าภายในและส่งออก ให้ลงมาซื้อมังคุดด้วยมาตรการที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องทำให้สถานการณ์เริ่มกระเตื้องขึ้น เช่นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีล้งเข้ามาซื้อขายมังคุดและผลไม้เพิ่มขึ้นจาก 40 ล้ง เป็น 146 ล้ง นอกจากนี้สมาคมผู้ส่งออกทุเรียนมังคุดแจ้งว่า สามารถจองตู้คอนเทนเนอร์ที่จะส่งออกผลไม้ทางเรือได้แล้วตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม ซึ่งจะทำให้ลดการขนส่งทางรถไปประเทศจีนที่แออัดติดขัดที่ด่านโหยวอี้กวนและด่านโมฮ่านมีผล จนทำให้ตู้คอนเทนเนอร์หมุนกลับมาภาคใต้ไม่ทันนั้นดีขึ้น หากตู้คอนเทนเนอร์ทยอยกลับมาขนมังคุดได้มากขึ้นภายในไม่กี่วันข้างหน้า จะทำให้การซื้อขายเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อราคาที่จะขยับตัวสูงขึ้น

“ขอให้คนไทยช่วยกันอุดหนุนผลไม้ไทย ผ่าน facebook : Thailandpostmart และเว็บไซต์ของไปรษณีย์ไทย www.Thailandpostmart.com ได้แก่ มังคุด จ.นครศรีธรรมราช, เงาะ จ.สุราษฎร์ธานี และลำไย จ.พะเยา ด้วยการการตลาดแบบใหม่ใช้ช่องทาง Line My Shop และ QR Code ให้ผู้ซื้อ ลูกค้า ทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลไม้และราคาที่นำมาขายและสามารถสแกนซื้อที่ QR Code ของโครงการได้เลย โดยกระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนค่าขนส่งและค่ากล่องให้กับประชาชนที่สั่งซื้อผลไม้ออนไลน์ผ่าน Thailandpostmart ของไปรษณีย์ ซึ่งไปรษณีย์ไทย จัดส่งให้ฟรีทั่วไทยด้วย ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร นอกจากนี้อาจส่งมอบแก่บุคลากรด่านหน้าเพื่อเป็นกำลังใจด้วย” นายเฉลิมชัย กล่าว

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงมาตรการป้องกันและควบคุมเชื้อโรคของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกมังคุดและผลไม้อื่น ๆ ของไทย ที่เกิดจากปัญหาการขนส่งล่าช้า การขาดแคลนตู้คอนเทรนเนอร์และตะกร้าใส่ผลไม้ รวมทั้งปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าพื้นที่ที่ทำได้ยาก การขาดแคลนแรงงาน และตะกร้ามีไม่พอเช่นกัน ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งระดับนโยบายและระดับพื้นที่ เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน กระทรวงพาณิชย์มีแนวทางมาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยกระจายมังคุดในประเทศ

  1. เชื่อมโยงและกระจายมังคุดออกนอกแหล่งผลิตโดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการแก่ศูนย์กระจายในจังหวัดแหล่งผลิตกิโลกรัมละ 3 บาท ซึ่งกรมการค้าภายในโอนเงินให้จังหวัดดำเนินการจำนวน 50,850,000 บาท ตามที่ฟรุ้ตบอร์ดอนุมัติเพื่อกระจายมังคุดจำนวน 16,950 ตัน ออกนอกแหล่งผลิตอย่างเร่งด่วน
  2. สนับสนุนค่าขนส่งสำหรับผลไม้ที่ส่งผ่านไปรษณีย์กรมการค้าภายในร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทยสนับสนุนกล่องไปรษณีย์และสติกเกอร์ส่งฟรีผลไม้ทั่วประเทศ ส่งเสริมการขายผ่านออนไลน์แก่เกษตรกรรายย่อยจำนวน 20,000 กล่องกล่องละ 10 กิโลกรัม เพื่อช่วยกระจายผลไม้ 2,000 ตัน โดยได้จัดส่งกล่องพร้อมสติกเกอร์ให้จังหวัดต่างๆ แล้ว
  3. เชื่อมโยงผู้รับซื้อของกรมการค้าภายในให้ช่วยเร่งระบายมังคุดเกรดรองหรือตกเกรดออกจากแหล่งผลิตโดยเร่งด่วน กรณีเกิดปัญหาระบายมังคุดไม่ทันในบางพื้นที่

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2032 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน