มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2120 ครั้ง
“อลงกรณ์” เปิดงาน 18 ปี ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์จำหน่ายสินค้าฮาลาล THA Shop เร่งเครื่องโครงการลงทุนดันไทยสู่ฮาลาลฮับฝ่าวิกฤตโควิด-19 เจาะตลาด 48 ล้านล้านบาท จับกลุ่มเป้าหมายใหม่กว่า 2 พันล้านคน
วันนี้ (13 ส.ค.64) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” เป็นประธานในพิธีเปิดงานครบรอบ 18 ปี ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเปิดศูนย์จำหน่ายสินค้าฮาลาลภายใต้ร้าน ธาช็อป (THA Shop) โดยมี รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ, รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผอ.สถาบันมาตรฐานฮาลาล, คุณสมพล รัตนาภิบาล, คุณต่อศักดิ์ สุทธิชาติ ที่ปรึกษา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล และผู้เข้าร่วมงานทางออนไลน์ ร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้
ซึ่งภายในงานยังมีการนำเสนองานกิจกรรมเพื่อสังคม การสอนออนไลน์ การดำเนินงานของศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการเสวนาแบบ Webinar ในหัวข้อ “ศักยภาพฮาลาล SME กับการฟื้นฟู เศรษฐกิจไทยในยุค COVID-19” โดยมี ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคุณพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ (ผู้ก่อตั้งบริษัท Tough&Tumble) ร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วย โดยมี รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ และผู้เข้าร่วมงานทางออนไลน์ ร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้
นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมภายหลังจากเสร็จพิธีเปิดว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดนโยบายไทยแลนด์ฮาลาลฮับ เพื่อให้ไทยเป็นประเทศผู้นำในการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารและผลผลิตเกษตรมาตรฐานฮาลาล สู่ตลาดเป้าหมายใหม่ กลุ่มประเทศมุสลิม 2,000 ล้านคน และผู้บริโภคสินค้าฮาลาล ที่ไม่ใช่มุสลิมทั่วโลก โดยในปี 2020 ตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั่วโลก มีมูลค่า 1,533,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (48,004,350 ล้านบาท) และประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,285,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 71,545,354 ล้านบาท) ในปี 2026 และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% คิดเป็นมูลค่าเพิ่มปีละ 560 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (16.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่จะสามารถเพิ่มการส่งออกสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ๆ สำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการของไทยในยุคโควิด-19
จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” บนความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันมาตรฐานฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยมีการกำหนดวิสัยทัศน์และแผนการพัฒนาฮาลาล เป็นแนวทางการขับเคลื่อนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการ ซึ่งมีความคืบหน้าของการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรฮาลาล (Halal AgriIndustry) อย่างน้อย 3 โครงการในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และกำลังหารือเรื่องการลงทุนและการขยายตลาดกับบริษัทใหญ่รายหนึ่งในตะวันออกกลางและเอเชียกลาง
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2120 ครั้ง