ป.ป.ช. ยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1602 ครั้ง

สำนักงาน ป.ป.ช. จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสรุปผลการผลักดันและบูรณาการติดตามการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย

วันนี้ (13 ก.ย.64) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในพิธีเปิด “กิจกรรมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสรุปผลการผลักดันและบูรณาการติดตาม การยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index ; CPI) ของประเทศไทย” โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วน ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช.เข้าร่วมสัมมนาฯ ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) โดยกำหนดเป็นเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนฉบับต่าง ๆ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) ประเด็นที่ 21 “การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ” ได้กำหนดให้ประเทศไทยมีอันดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตอยู่ในอันดับ 1 ใน 54 ของประเทศที่เข้ารับการประเมิน และ หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 50 คะแนน ในปี พ.ศ. 2565 และอยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ของประเทศที่เข้ารับการประเมิน และ หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 73 คะแนน ในปี พ.ศ. 2580, แผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้กำหนดให้ประเทศไทยมีระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตอยู่ใน 20 อันดับแรกของโลกในปี พ.ศ. 2579, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ได้กำหนดเป้าหมายการยกระดับคะแนนของดัชนีการรับรู้การทุจริต สูงกว่าร้อยละ 50 เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) กำหนดเป้าหมายระดับคะแนนของดัชนีการรับรู้การทุจริต สูงกว่าร้อยละ 50 เมื่อสิ้นสุดยุทธศาสตร์ชาติฯ ในปี พ.ศ. 2564

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวต่อว่า การยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานทุกภาคส่วน มิใช่เป็นแต่เพียงหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จึงได้จัดกิจกรรมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสรุปผลการผลักดันและบูรณาการติดตามการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันและบูรณาการติดตามการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) และเพื่อสนับสนุนให้การดำเนินการตามมาตรการความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งส่งผลต่อการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “TaC Team Thailand (Together against Corruption) เพื่อเพิ่มคะแนนและลดอันดับ CPI ของประเทศไทย” โดยตอนหนึ่งได้ระบุถึงการเสนอแนวทางในการเพิ่มคะแนน CPI ของประเทศไทยให้สูงขึ้น และลดอันดับของประเทศไทย จากลำดับที่ร้อยกว่า ลงมาให้อยู่ในหลักสิบต้น ๆ ตามเป้าหมายที่กำหนด ว่า สำนักงาน ป.ป.ช. พร้อมที่จะ Tac Team กับหน่วยงานที่คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้เป็นเจ้าภาพในแต่ละแหล่งข้อมูล รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยการแต่งตั้งคณะทำงานหรือคณะบุคคล เพื่อมอบหมายให้เป็นกลไกสำคัญของหน่วยงานในการผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินการต่าง ๆ ที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจ

สำนักงาน ป.ป.ช. ยินดีจะช่วยสนับสนุนการทำงานของทุกหน่วยงาน ทั้งในรูปแบบของข้อมูลตลอดจนการมอบหมายผู้แทนเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อร่วมดำเนินงานขับเคลื่อนการยกระดับคะแนน CPI กับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และขอเชิญชวนให้หน่วยงานทุกภาคส่วน จัดตั้ง Strong องค์กรพอเพียงต้านทุจริต เพื่อให้เป็นกลไกที่สำคัญสำหรับ TaC Team Thailand (Together against Corruption) ซึ่งจะได้รับการต่อยอดจากทุกท่านที่เข้าร่วมการสัมมนาในวันนี้ จากหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง จากภาคีเครือข่ายภาคเอกชนทุกแห่ง และจากพี่น้องประชาชนทุกท่านทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันก้าวไปสู่เป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ คือ ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1602 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน