มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2238 ครั้ง
“ราชทัณฑ์” กางประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ เปิดช่อง “ผู้ต้องขังคดียาเสพติด” ร้องศาลขอกำหนดโทษใหม่ให้เบาลงได้ สั่งเรือนจำเร่งประชาสัมพันธ์การใช้สิทธิ์-สำรวจ “นักโทษยาเสพติด” พ้นเรือนจำ
วันนี้ (15 ต.ค.64) นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่ กระทรวงยุติธรรมได้เสนอขอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. …. ว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายได้ผ่านมติที่ประชุมรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว โดยสาระสำคัญของการแก้ไข คือ มุ่งเน้นสืบสวนหาตัวหัวหน้าผู้สั่งการ และยึดทรัพย์ตัดวงจรเครือข่ายยาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการกำหนดอัตราโทษใหม่ ในบางฐานความผิดที่เกี่ยวกับการผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครองเพื่อเสพ และเสพ ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ และสารระเหย ให้ได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำผิด คำนึงถึงพฤติการณ์ความร้ายแรงและจะมีการนำพฤติการณ์การกระทำความผิดมาพิจารณาอัตราโทษแทนการใช้บทสันนิษฐาน ซึ่งบางฐานความผิดจะมีกำหนดโทษลดลง อันเป็นคุณต่อผู้กระทำผิด ส่วนในกรณีคดีถึงที่สุด จะทำให้ผู้ต้องขังที่มีโทษตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่บัญญัติในกฎหมายฉบับใหม่ อาจยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลพิจารณากำหนดโทษใหม่ได้
นายอายุตม์ กล่าวอีกว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่จะมีผลใช้บังคับ หลังพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. …. มีผลใช้บังคับ 30 วัน ดังนั้น เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและผู้ต้องขังได้รับประโยชน์สูงสุด นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงได้หารือกับผู้บริหารศาลยุติธรรม อัยการ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยสำนักงานศาลยุติธรรมได้ขอให้กรมราชทัณฑ์สำรวจผู้ต้องขังในคดียาเสพติด และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ต้องขังคดียาเสพติดรับทราบ รวมทั้งช่วยเหลืออำนวยความสะดวก ในการยื่นคำร้องขอกำหนดโทษใหม่ พร้อมทั้งจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม เพื่อพิจารณาความพร้อมในการปล่อยตัวผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งเสพ และครอบครอง เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง ตามที่นายสมศักดิ์ฯ ได้มอบนโยบายไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์รับหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องขัง 289,332 คนทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด 237,763 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 82.18 ของผู้ต้องขังทั้งหมด และเป็นนักโทษเด็ดขาดในคดียาเสพติดที่คดีถึงที่สุดแล้ว จำนวน 196,611 คน (ข้อมูลวันที่ 1 กันยายน 2564)
“กฎหมายฉบับใหม่นี้ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเมื่อมีผลบังคับใช้ จะมีผู้ต้องขังได้รับการพิจารณาปล่อยตัวพ้นโทษ หรือพิจารณาโทษจำคุกใหม่ตามแต่กรณี กรมราชทัณฑ์จึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2238 ครั้ง