นวัตกรรมเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์”

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1732 ครั้ง

จากสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของผู้ต้องขังอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมได้ขาดแคลนแรงงานในการขับเคลื่อนระบบการผลิตเป็นอย่างมาก ซึ่งในอดีตภาคอุตสาหกรรมได้พึ่งพาแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก เมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาด Covid-19 แรงงานดังกล่าวได้ถูกผลักดันให้กลับประเทศ จึงทำให้ระบบการผลิตสินค้าในภาพรวมเกิดภาวะชะงักงันอย่างรวดเร็ว กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มีนโยบายคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ “การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์” เพื่อแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ และเสริมทักษะอาชีวะบำบัด สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับผู้กระทำผิด ให้มีโอกาสแก้ไข ปรับปรุงตัวเอง ลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำ และคืนทรัพยากรมนุษย์ให้กลับไปขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน โดยรูปแบบการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ สามารถดำเนินการได้ 3 รูปแบบ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ได้แก่ 1. การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมภายนอกเรือนจำ โดยดำเนินการร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) (ที่ดินของราชการอื่น) 2. การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมภายในพื้นที่เรือนจำ (ที่ดินของราชทัณฑ์) และ 3. การร่วมลงทุนในที่ดินของเอกชน เพื่อพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม โดยร่วมดำเนินการกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 3 รูปแบบนี้ อาจต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการเนื่องจากเป็นการระดมทุนจากเอกชน และร่วมกับหลายหน่วยงาน ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมโดยเร็ว (Quick win) จึงทดลองนำร่องดำเนินการในจังหวัดสมุทรปราการเป็นแห่งแรก เพื่อนำผู้ได้รับการพักการลงโทษและถูกคุมประพฤติโดยติดกำไล EM ออกไปทำงานในสถานประกอบการอุตสาหกรรม หรือ สมุทรปราการโมเดล เพื่อสร้างความมั่นใจต่อภาคอุตสาหกรรม

สภาพปัญหาดังกล่าวเป็นวังวนมาช้านาน คือการออกจากเรือนจำไปแล้วกลับมากระทำผิดซ้ำ เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ “ไม่มีอาชีพ ไม่มีใครรับเข้าทำงาน ถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็นคนขี้คุก” นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ จึงมีการทำงานเชิงลึกในการสร้างอาชีพ โดยเริ่มจากการให้ความรู้ทั้งสายสามัญ สายอาชีพ รวมถึงวิชาที่เสริมสร้างทักษะชีวิตในยุคปัจจุบัน อาทิ วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ การศึกษาแบบลงมือทำทั้งการฝึกทักษะอาชีพระยะสั้น อาชีพอิสระที่เหมาะกับบริบททางสังคมในปัจจุบัน ตลอดจนด้านการเกษตร การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ อาทิ ฟ้าทลายโจร ทุเรียน รวมถึง การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ และการทำอาหารเพื่อเป็นเชฟ เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะทำให้ผู้ต้องขังมีอาชีพ และไม่ต้องใช้ทุนทรัพย์ในการลงทุน หนทางที่ดีที่สุด คือ การผลักดันส่งเสริมให้ผู้ต้องขังเป็นทรัพยากรด้านแรงงาน เพื่อป้อนสู่งานภาคอุตสาหกรรม “เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง” เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างสังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม จึงได้มีโครงการจัดตั้ง นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ขึ้น เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสจึงได้มีแนวคิดใช้ สมุทรปราการโมเดล ทดลองนำร่องนำผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีในชั้นกลางขึ้นไปที่จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ทำผิดซ้ำได้ 2 ครั้ง มีความสนใจเข้าร่วมโครงการ และไม่ใช่กลุ่ม watch list 7 ประเภท เป็นต้น เพื่อให้ได้รับการพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษ และติดกำไล EM สลัดภาพลักษณ์ “นักโทษเด็ดขาดทิ้งโดยสิ้นเชิง” และได้รับสถานะใหม่ คือ ผู้พ้นโทษที่ถูกคุมประพฤติ เข้าไปทำงานเป็นพนักงานประจำในนิคมอุตสาหกรรม โดยได้รับค่าแรง ค่าจ้างและสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งก่อนจะออกไปทำงานจริง กรมราชทัณฑ์ ได้เสริมอาวุธทางปัญญาเพื่อเตรียมความพร้อมในทักษะเฉพาะ และเมื่อออกไปทำงานแล้วผู้ประกอบการจะเป็นผู้ดูแล อุปการะและฝึกงานให้ด้วย โดยนำร่องใน 4 พื้นที่ที่มีศักยภาพ เริ่มจากจังหวัดสมุทรปราการเป็นรุ่นแรก ตามด้วยสมุทรสาคร ชลบุรี และระยองต่อไป โดยผนึกกำลังทำ MOU กับกระทรวงแรงงาน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รวมถึงกลุ่มบริษัทโรงงานเอกชน เอส.เอ็ม.อี ธุรกิจขนาดเล็ก ไปจนถึงโรงงานขนาดใหญ่ เพื่อเตรียมแผนรองรับแรงงานพิเศษเหล่านี้ในอนาคต อันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงาน สร้างอาชีพคืนคนดีสู่สังคมต่อไป

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1732 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน