มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1778 ครั้ง
“ราชทัณฑ์” เฝ้าระวังผู้ต้องขังประเภทคดีสะเทือนขวัญที่เป็นภัยต่อสังคม พร้อมแยกคุมขัง-บำบัดด้วยนิติจิตเวชศาสตร์เฉพาะ เพื่อการพัฒนาแก้ไขพฤตินิสัยอย่างมีประสิทธิภาพ
วันนี้ (16 พ.ย.64) นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงการดำเนินการพิจารณากลั่นกรองผู้เข้าข่ายเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ต้องเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญ หรือเป็นภัยต่อสังคม (Watch List) ตามนโยบายของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่จะจำแนกผู้ต้องขังที่มีพฤติการณ์กระทำผิดรุนแรง โหดร้ายทารุณ มีลักษณะร้าย มีแนวโน้มหรือความเสี่ยงที่จะกระทำผิดร้ายแรงซ้ำ ออกจากผู้กระทำผิดโดยพลั้งพลาดหรือไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน เพื่อให้สามารถดำเนินการดูแลและควบคุมผู้ต้องขังกลุ่มดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ
ซึ่งปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์พบว่ามีผู้ต้องขังกลุ่มดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 196 ราย โดยพิจารณาคัดกรองจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตราในประมวลกฎหมายอาญาและลักษณะความผิด 7 กลุ่ม เช่น ฆ่าเด็ก หรือข่มขืนเด็ก ฆ่าข่มขืน ฆาตกรต่อเนื่อง ฆาตกรโรคจิต เป็นต้น อีกทั้งพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดี สาเหตุแห่งการกระทำความผิด ประวัติการกระทำความผิด ภาวะแห่งจิต พฤติการณ์ขณะต้องโทษ และแบบประเมินด้านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง มาประกอบการพิจารณา
นายอายุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการแยกผู้ต้องขังดังกล่าวออกจากผู้ต้องขังทั่วไป จะเกิดผลดีหลายประการ นอกจากจะทำให้กรมราชทัณฑ์ สามารถควบคุมและดูแลผู้ต้องขังกลุ่มดังกล่าวได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมตามกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การแยกคุมขังยังเรือนจำความมั่นคงสูงสุด ที่มีแดนความมั่นคงสูงสุด หรือ Supermax ไปจนกระทั่งการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู และพัฒนาพฤตินิสัยด้วยโปรแกรมเฉพาะทาง พร้อมประสานความร่วมมือกับสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ หรือนักจิตวิทยาเพื่อตรวจวินิจฉัย บำบัดรักษา และฟื้นฟูสุขภาพจิตตามแนวทางเฉพาะด้านนิติจิตเวชศาสตร์ นอกจากนั้น ยังเกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการสร้างความปลอดภัยและเชื่อมั่นต่อประชาชนว่ากลุ่มคนดังกล่าว จะได้รับการควบคุม แก้ไข บำบัดฟื้นฟู อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ พร้อมปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในการกลับตนเป็นคนดี มีคุณค่าต่อสังคม และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1778 ครั้ง