มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1770 ครั้ง
วันนี้ (7 ธ.ค.64) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนบทความสั้น ๆ ไว้อย่างน่าสนใจในเฟสบุ๊คส่วนตัว โดยระบุว่า “อย่าถูกกลืน” รักและห่วงเพื่อนที่จากไปทุกคน วันวานอ่านข่าวเห็นท่านชวนเตือนว่า “ไปแล้วให้รักษาอุดมการณ์ อย่าถูกกลืน”
ผมคิดว่าเป็นการฝากหลักการหลักคิดในการครองตนของคนประชาธิปัตย์ที่ออกจากพรรคไปอยู่ที่อื่น ผมเป็นคนหนึ่งที่เคยออกจากพรรคไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป ตอนนั้นหมกมุ่นคิดฝันแต่เรื่องการปฏิรูปพรรคปฏิรูปประเทศ ตั้งใจไปทำแผนปฏิรูปประเทศเหมือนสถาปนิกออกแบบพิมพ์เขียวเสร็จก็จบงาน 2 ปีกว่าที่อยู่ท่ามกลางอำนาจและโอกาสแถมมีตำแหน่งเป็นรองประธานสปท.คนที่ 1
ลาภยศสรรเสริญกองอยู่ตรงหน้าถ้าเดินต่อบนเส้นทางนั่น มันน่าถูกกลืนเหลือเกินถ้าคิดเห็นแก่ตัวเพื่อประโยชน์และอนาคตของตัวเอง คำเชิญคำชวนมาทั้งก่อนและหลังพ้นตำแหน่ง แต่ผมก็ตัดสินใจตอนนั้นว่าจะวางมือทางการเมืองเพื่อไม่ต้องเดินทางบนถนนการเมืองอีกหรือไม่ก็กลับบ้านหลังเก่าคือประชาธิปัตย์ ก็มีคำถามตามมาว่าทำไมถึงกลับประชาธิปัตย์
ผมบอกว่ามี 4 เหตุผลหลัก
1. ถ้าจะเดินต่อทางการเมืองไปอยู่พรรคใหม่ก็ต้องสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ ผมทำไม่ได้ครับ ที่จะต้องรบราทำศึกกับพี่น้องของผม และประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่ต้องรักษาไว้
2. เมื่อครั้งเดินทางเข้าพรรคสมัครเป็นสมาชิกลงเลือกตั้งที่เพชรบุรีปี 2535/1 บนเวทีปราศรัยที่สนามหน้าเขาวังมีท่านชวนหัวหน้าพรรคในขณะนั้นนั่งอยู่ด้วย ผมประกาศกับประชาชนคนเมืองเพชรว่า ผมเกิดที่พรรคประชาธิปัตย์และจะตายที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเดียว
3. ผมอยากกลับมาปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ตามฝันที่คิดไว้ตอนเสนอปฏิรูปพรรคเมื่อปี 2556
4. บ้านเมืองยังวิกฤติ ประชาธิปัตย์คือความหวังเพราะเป็นสถาบันการเมืองหลัก แล้วผมก็กลับมาของานทำที่พรรคประชาธิปัตย์เหมือนเดิม เลือกกลับมาทั้งที่ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และจะอยู่อย่างไรในปลายปี 2561
เพราะผมคงเป็นคนเดียวที่ทั้งก่อนจากไปและเมื่อกลับมาโดนดุด่าว่ากล่าวหนักหนาสาหัสมากจากพี่ ๆ น้อง ๆ ในพรรค ถ้าคิดน้อยใจหรือไม่อดทนก็คงพกความแค้นติดตัวเตลิดไปแล้ว เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตบนทางแพร่งที่ต้องตัดสินใจของผม ต้องเลือกระหว่างอนาคตของตัวเองหรืออนาคตของพรรค เป็นการเลือกครั้งที่ 2 เหมือนครั้งแรกที่ตัดสินใจมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2534
กว่า 20 ปีที่ร่วมรบทำศึกในสนามเลือกตั้งแพ้บ้างชนะบ้าง และเมื่อพรรคมอบหน้าที่เป็นประธานตรวจสอบทุจริตก็โดนคดีอาญาร่วม 20 คดี โดนฟ้องทางแพ่งเป็นพันเป็นหมื่นล้าน ต่อสู้คดีมากว่า 10 ปี เรียกว่าบาดแผลเต็มตัวเต็มผืนหลัง
เขียนมาเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และเป็นอีกข้อคิดเตือนใจ สำหรับชาวประชาธิปัตย์ทุกคนที่เมื่อถึงโมเมนต์ที่ต้องตัดสินใจ หรือถ้าไปแล้วก็กลับมาได้ ถ้าอุดมการณ์ไม่เปลี่ยนแปลงหรือถูกกลืนเสียก่อน ตามข้อเตือนใจของท่านชวน
สำหรับผม วันนี้อายุก็มากแล้วแต่ก็ขอเป็นคนหนึ่งที่จะยืนหยัดสู้ร่วมกับพี่น้องประชาธิปัตย์ต่อไป บ้านเมืองวันนี้เผชิญวิกฤติรุนแรงประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าจากปัญหาเศรษฐกิจและโควิด-19 การเมืองก็มีแต่ความแตกแยกแบ่งฝ่ายยาวนานมาร่วม 20 ปี
ประชาธิปัตย์ยุคใหม่จะไม่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาจะไม่สร้างความขัดแย้งแต่จะแก้ไขปัญหาความแตกแยกด้วยแนวทางประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐนิติธรรม เรามีแผนปฏิรูปฟื้นฟูกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศครั้งใหญ่
ประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองหลักของประเทศต้องเข้มแข็งจึงจะสามารถช่วยประเทศและประชาชนให้พ้นทุกข์ พ้นภัย สร้างประชาธิปไตยที่ถูกต้อง พัฒนาเศรษฐกิจให้ถูกทาง โดยยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญเอาประโยชน์ส่วนตนไว้ข้างหลัง
นี่คือภาระหน้าที่ของเรา ชาวประชาธิปัตย์ทั้งในวันนี้และวันหน้าครับ
อลงกรณ์ พลบุตร 7/12/2564
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1770 ครั้ง