มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1610 ครั้ง
ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผนึกกำลังร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ลงพื้นที่ TaC Team และร่วมกันหาข้อตกลงในการต้านและลดทุจริต ประเด็นความเสี่ยงการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภคพื้นที่ฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 – 8 ธ.ค.64 ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ลงพื้นที่ภายใต้ โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยง (STRONG: Together against Corruption – TaC) ในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อบูรณาการการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการกำหนดแนวทางต้านและลดทุจริตประเด็นการติดตั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่างประติมากรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สำหรับในวันที่ 7 ธ.ค.64 นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมคณะเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประชุมหาข้อตกลงในการต้านและลดทุจริตในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ร่วมกับ คณะ TaC Team จากสำนักงาน ป.ป.ช. นำโดย นายหิรัณย์เศรษฐ เหยี่ยวประยูร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 7 นายภิรมย์ สมร่าง ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะที่ปรึกษาโครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยง (STRONG: Together against Corruption – TaC) และคณะผู้บริหารจากสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง
รวมทั้ง นายกรวุฒิ บรรยงวรพินิจ ท้องถิ่นจังหวัดราชบุรี นางสาวชัชพร พินทูวัฒนะ ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตภ.12) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 12 (จังหวัดเพชรบุรี) นางกิจจา อิศระภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดราชบุรี ผู้แทนสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดราชบุรี และผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ท. เขต 7 ได้ร่วมหารือและสรุปแนวทางร่วมกันในการป้องกันและป้องปรามการความเสี่ยงการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ได้ข้อตกลงในการดำเนินการต่อไปของจังหวัดและงานการป้องกันการทุจริต ของสำนักงาน ป.ป.ช.
โดยมีประเด็นความเสี่ยงการทุจริต 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1. การก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เกิดความคุ้มค่า 2. การติดตั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่างประติมากรรมในรูปแบบและพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม และ 3. การรุกล้ำพื้นที่ริมคลองชลประทานเพื่อใช้ประโยชน์ของบริษัทเอกชน
ทั้งนี้ ข้อตกลงความร่วมมือและแนวทางในการแก้ปัญหาความเสี่ยงการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดราชุบรี มีรายละเอียดดังนี้
(1) ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กำหนดนโยบายให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานตามระเบียบกฎหมาย ความถูกต้อง โดยคำนึงถึงความสมประโยชน์ ความคุ้มค่า ความยั่งยืน และความโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และพร้อมจะประสานแก้ไขปัญหาให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการให้ความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช.
(2) หน่วยงานภาครัฐที่ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้แก่ ผู้แทนผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตภ.12) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 12 (จังหวัดเพชรบุรี) ผู้อำนวยการสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดราชบุรี ผู้แทนสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดราชบุรี และผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ท. เขต 7 ร่วมทำข้อตกลงจะปฏิบัติงานอย่างถูกต้องโปร่งใส และให้ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ท.
(3) สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 7 และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดราชบุรี จะสนับสนุนให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในพื้นที่อย่างเป็นกลาง เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต ให้มีบทบาทในการจับตามองและแจ้งเบาะแสการทุจริตอย่างเข้มแข็ง
ต่อมา ในวันที่ 8 ธ.ค.64 นายชูชีพ พงษ์ไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมคณะเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประชุมหาข้อตกลงในการต้านและลดทุจริตในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับคณะ TaC Team จากสำนักงาน ป.ป.ช. นำโดย นายหิรัณย์เศรษฐ เหยี่ยวประยูร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 7 นางวาธินี สุริยวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะที่ปรึกษาโครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ฯ และคณะผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง
รวมทั้ง ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้แทนสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้แทนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 3 ผู้แทนสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดสุพรรณบุรี และผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ท. เขต 7 ได้ร่วมหารือและสรุปแนวทางร่วมกันในการป้องกันและป้องปรามความเสี่ยงการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ได้ข้อตกลงในการดำเนินการของจังหวัดและงานการป้องกันการทุจริต ของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยประเด็นความเสี่ยงการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน (เสาไฟฟ้าส่องสว่างประติมากรรม)
ทั้งนี้ ข้อตกลงความร่วมมือและแนวทางในการแก้ปัญหาความเสี่ยงการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน (เสาไฟฟ้าส่องสว่างประติมากรรม) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีรายละเอียดดังนี้
(1) นายชูชีพ พงษ์ไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กำหนดนโยบายให้ความสำคัญกับการวางแผน ที่ควรมีการเชื่อมโยงแผนยุทธศาสตร์ ตั้งแต่แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) แผนปฏิรูปประเทศ ที่นำไปสู่การกำหนดแผนปฏิบัติการ โดยมุ่งเพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น “สังคมแห่งความสุข”
(2) การดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องยึดหลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณอย่างสูงสุดเพื่อให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน
(3) การให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องยึดหลักการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนใน 4 มิติ ได้แก่ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมรับผิดชอบ และร่วมติดตามและประเมินผล
(4) การดำเนินโครงการของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรมีการวางแผนและศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งในมิติองค์ประกอบ การใช้งานได้จริง สถานที่ติดตั้งเสาไฟ คุณสมบัติของเสาไฟสภาพแวดล้อม และพื้นที่ในการติดตั้งเสาไฟส่องสว่างประติมากรรม
ในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง ที่ดำเนินการภายใต้โครงการต้านและลดการทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG Together against Corruption – TaC) หรือโครงการ TaC Team จะได้นำประเด็นปัญหาความเสี่ยงการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภคพื้นฐานในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรีไปดำเนินการดังนี้
(1) ส่งเสริมการดำเนินงานในการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ และสอดคล้องกับความต้องการของภาคประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงควรให้ความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ครอบคลุมทั้งในโครงสร้าง ระบบ อุปกรณ์ที่เอื้ออำนวยความสะดวก เพื่อให้สามารถให้เกิดการใช้งานได้ทันที
(2) ผลักดันและติดตามมาตรการป้องกันการทุจริต รวมทั้งเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตให้เท่าทันพลวัตรที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์การทุจริตที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
(3) มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม
(4) เสริมสร้างการรณรงค์ให้ความรู้ผ่านสถานศึกษาและการรวมกลุ่มของภาคประชาชนเพื่อผลักดันการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
(5) การสื่อสารสร้างความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อสร้างกระแสให้เกิดพลังร่วมต่อต้านการทุจริต ผ่านการผลิตซีรีส์สารคดีถ่ายทอดเรื่องราวการร่วมแก้ไขปัญหาความเสี่ยงการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภคพื้นฐานในพื้นที่จังหวัดราชบุรีตามแนวทางต้านและลดการทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์
(6) ควรมีการกำหนดราคากลาง (เสาไฟฟ้าประติมากรรม) ที่เป็นมาตรฐานกลางในระดับจังหวัด เพื่อป้องกันการสืบราคาท้องตลาดที่ไม่เท่ากัน และป้องกันการฮั้วในการจัดซื้อจัดจ้าง
นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ในส่วนของการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา คณะ TaC team ได้ลงพื้นที่โรงเรียนอนุบาลราชบุรีและโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย เพื่อกำกับติดตามการนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้และประเมินผลสัมฤทธิ์หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา พร้อมทั้งให้คำปรึกษา แนะนำ และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของครูผู้สอน เพื่อพัฒนาและขยายผลการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาให้บรรลุเป้าหมาย “เด็กและเยาวชนไทยมีพฤติกรรมที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต” อีกด้วย
สุดท้ายนี้ เพื่อให้การลงพื้นที่ภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตฯ สัมฤทธิ์ผล สำนักงาน ป.ป.ช. จะมีการติดตามผลการนำข้อตกลงความร่วมมือในการแก้ปัญหาความเสี่ยงการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภคขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับจากการลงพื้นที่และการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความโปร่งใสและมีการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1610 ครั้ง