มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1506 ครั้ง
“อลงกรณ์” ประกาศเดินหน้าพัฒนากรุงเทพสู่ “มหานครสีเขียว” มุ่งยกระดับ “สุขภาพคน-คุณภาพเมือง” ตอบโจทย์อนาคตกทม. ชูแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ตั้งกลไก 50 เขต ดีเดย์ 24 ธ.ค. คิกออฟโครงการวัดสีเขียว คลองสามวาสีเขียว
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองบรรยายพิเศษในงาน Bangkok City Talk 2021 Bangkok Conference on Academic Argument ผ่านระบบออนไลน์ zoom meeting ในหัวข้อ “เกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง : อนาคตของกรุงเทพมหานคร” ผ่านระบบ Facebook live
โดยนายอลงกรณ์ กล่าวว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีประชากรในเมืองมากกว่าในชนบทเป็นครั้งแรกสะท้อนถึงการขยายตัวของเมือง (Urbanization) ในประเทศของเราและเป็นเหตุผลสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในยุคปัจจุบันต้องเร่งขับเคลื่อนพัฒนาการเกษตรในเมือง (Urban Farming) โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด 19 และยุคต่อไป (Next normal) ที่ต้องให้ความสำคัญระบบนิเวศน์เมืองเรื่องสุขภาพคนและคุณภาพเมือง
สำหรับกรุงเทพมหานครมีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นที่เกษตรลดลงเหลือเพียงแสนกว่าไร่ เป็นเมืองที่มีความมั่นคงทางอาหาร (Food Safety) น้อยมาก และพื้นที่สีเขียวยังไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนประชากร คณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงวางโครงสร้างและระบบเป็นกลไกแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วยโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project : SUAD Project) ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนซึ่งได้กำหนดยุทธศาสตร์ ”3’s” (Safety-Security-Sustainability-เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน โดยโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็น “มหานครสีเขียวแห่งอนาคต” มีวัตถุประสงค์ 6 ประการ ได้แก่
1. การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง
2. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว
3. การลด PM 2.5 และลดก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas)
4. การเพิ่มคุณภาพอากาศ
5. การอัพเกรดคุณภาพชีวิตของประชาชน
6. การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว
ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลก และเป้าหมายของโครงการกรุงเทพสีเขียว 2030 (Green Bangkok2030) ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ เป็น 10 ตารางเมตรต่อคนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ในทุกระยะ 400 เมตร และเพิ่มพื้นที่ร่มไม้ต่อพื้นที่เมืองให้เป็น 1.3 แสนไร่ พร้อมทั้งพัฒนาการเกษตรและสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่เมือง รวมทั้งการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวเพิ่มรายได้และอาชีพในระดับชุมชนบนโมเดล BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) ควบคู่ไปด้วยกัน
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ได้จัดตั้งกลไกการขับเคลื่อนใน 3 ระดับ ทั้งคณะกรรมการบริหารโครงการระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับย่อยในพื้นที่ เป็นโครงสร้างและระบบครอบคลุมทั้งประเทศ โดยแบ่งพื้นที่ดำเนินการเป็น2ประเภทคือพื้นที่ของรัฐ (Public Space) เช่น บริเวณริมถนนและทางรถไฟ พื้นที่ใต้ทางด่วน เกาะกลางถนน สวนสาธารณะ สถานศึกษาของรัฐ พื้นที่ส่วนราชการ และพื้นที่สาธารณะว่างเปล่า
สำหรับ พื้นที่ส่วนบุคคล (Private space) เช่น บ้าน ชุมชน โครงการจัดสรร คอนโด อาคารสำนักงาน พื้นที่ของการเคหะแห่งชาติ วัด โรงเรียน สถานศึกษา โดยส่งเสริมให้ปลูกไม้ยืนต้นไม้พุ่มไม้เลื้อยหรือไม้ในร่มโดยมีการพัฒนาเมืองสีเขียวได้หลายรูปแบบ เช่น ถนนสีเขียว (Green Road) หลักคาสีเขียว (Green Roof) ตึกสีเขียว (Green Building) สวนป่า (Forest Garden) มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) ชุมชนสีเขียว (Green Community) วัดสีเขียว (Green Temple) เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและการเรียนรู้กับการอยู่ร่วมกันแบบแบ่งปัน
สำหรับการทำเกษตรในเมืองตามแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนมี5ประเภทได้แก่เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตรและเกษตรธรรมชาติ)ทั้งในรูปแบบสวนขนาดเล็กและสวนขนาดใหญ่ สำหรับชุมชนในกรุงเทพมหานครจะได้รับการสนับสนุนในการสร้างอาชีพเกษตรกรรมในเมือง เพื่อสร้างรายได้เสริมและลดค่าครองชีพอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้จะมีตลาดเกษตร (Farm Market) เป็นตลาดจำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ขณะนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ระดับคลัสเตอร์ และระดับเมือง เช่น ได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนกรุงเทพมหานครแล้วมีตนเป็นประธาน และจะจัดตั้งคณะทำงานให้ครบทั้ง 50 เขต เป็นกลไกขับเคลื่อนระดับพื้นที่ เช่น กรีนตลิ่งชัน กรีนบางกะปิ กรีนบางนา กรีนห้วยขวาง กรีนบางแค และวันที่ 24 ธ.ค.นี้ จะคิดออฟโครงการวัดสีเขียวคลองสามวาสีเขียว ที่วัดพระยาสุเรนทร์ เป็นที่แรกบนความร่วมมือระหว่างวัด บ้าน และโรงเรียน (บ.ว.ร.) ในเขตคลองสามวา
ซึ่งโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองจะเป็นทิศทางใหม่ของการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของไทยและเป็นครั้งแรกของประเทศที่จะส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมในเมืองอย่างยั่งยืนในระดับนโยบายคู่ขนานไปกับการพัฒนาภาคเกษตรในชนบท อีกทั้งยังส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนด้วย ซึ่งมหานครใหญ่ๆ ระดับ World City เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน ปักกิ่ง สิงคโปร์ ปารีส โตเกียว ฯลฯ ก็กำลังหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรกรรมในเมือง
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1506 ครั้ง