“อลงกรณ์” ตอบโจทย์ “ไพศาล” ประเด็น “ตีกินเปิดด่านจีน” ชี้สับสนเรื่องด่านจึงเข้าใจผิด

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1614 ครั้ง

อลงกรณ์ตอบโจทย์ไพศาล พืชมงคลประเด็น ตีกินเปิดด่านจีนชี้ ไพศาลสับสนเรื่องด่านจึงเข้าใจผิดในสาระสำคัญ พร้อมเชิญมาอัพเดทข้อมูลใหม่ที่กระทรวงเกษตรฯ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ เขียนข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัว ตอบประเด็นที่ นายไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เขียนเรื่อง “อย่าตีกิน” ว่าเจรจาจีนให้เปิด “ด่านผิงสิงก่วน” รับสินค้าไทยสำเร็จ เขาเปิดมานานแล้ว

“โดยนายอลงกรณ์เขียนไว้ดังนี้ “…อ่านข้อความของพี่ไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เขียนเรื่อง อย่าตีกิน ว่าเจรจาจีนให้เปิดด่านผิงสิงก่วนรับสินค้าไทยสำเร็จ เขาเปิดมานานแล้วด้วยความแปลกใจระคนตกใจ

ในฐานะคนกันเอง จึงต้องรีบแก้ไขข่าวเพราะพี่ไพศาล เขียนบทความด้วยความเข้าใจผิด ในสาระสำคัญมากๆ หลายประการ เพื่อจะได้ไปแก้ไขบทความเสียใหม่ ดังนี้ครับ

1. ด่านรถไฟผิงเสียง ไม่ใช่ ด่านผิงเสียง เป็นคนละด่านกัน

2. ด่านผิงเสียง เป็นการเรียกตามชื่อเมือง (เมืองผิงเสียง) ชื่อด่านที่ถูกต้องเรียกว่า ด่านโหยวอี้กวน และเปิดด่านโหยวอี้กวนได้ตามพิธีสารไทยจีนปี 2552

3. ด่านรถไฟผิงเสียง เพิ่งเปิดบริการขนส่งผลไม้ไทยวันแรกเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2563 ไม่ใช่เปิดมานานตามที่พี่ไพศาลเข้าใจ (น่าสับสนระหว่างคำว่าด่านรถไฟผิงเสียง ด่านผิงเสียง ด่านโหยวอี้กวน)

4. การขนส่งทางบกผ่านลาวและเวียดนามไปจีนมีความสำคัญมาก ทั้งทางรถและทางรถไฟซึ่งเราได้ดำเนินการล่วงหน้าจนทำพิธีสารเพิ่มด่านได้มากที่สุดในรอบทศวรรษ (โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ) รวมทั้ง ด่านรถไฟผิงเสียง (เปิดดำเนินการแล้วปี 2563) ล่าสุดคือ ด่านรถไฟโมฮ่าน (ไม่ใช่ด่านโมฮ่านนะครับ) และ ด่านรถไฟเหอโขว่ รองรับเส้นทางรถไฟลาว-จีน

5. หลังโควิดระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลจีนใช้มาตรการ Zero COVID ตรวจเข้มทุกด่านทุกเมืองทั่วจีน มาตรการที่กระทบต่อการขนส่งทุกระบบที่รุนแรงมาก คือปิดด่านทันทีแม้พบโควิดปนเปื้อนเพียงรายเดียว เราร่วมกับทุกฝ่ายทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการทั้งเป็นทางการไม่เป็นทางการ เพื่อคลี่คลายปัญหานี้ และจีนก็เปิดด่านรถไฟผิงเสียงอีกครั้งหนึ่งตามข่าวที่ออกไป เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ครับ

เป็นเรื่องการทำงาน ไม่ใช่เรื่องการ ตีกิน หรือ อัปยศแห่งชาติ ตามสำนวนของพี่ไพศาล

ขณะนี้ประเทศไทยพร้อมแล้วในการส่งสินค้าไปท่าบกท่านาแล้ง โดยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนไทย-ลาว-จีน ทันทีที่จีนพร้อมเปิดบริการ SPS และโควิดที่ด่านรถไฟโมฮ่านคาดว่าจะเปิดบริการภายในครึ่งแรกปีนี้ คือรอจีนทำให้เสร็จซึ่งเรากับลาวร่วมด้วยช่วยกันผลักดันเรื่องนี้

ไม่ต้องรออะไรอีกแล้ว ที่เสร็จก็เร่งใช้งาน ที่สร้างก็สร้างไป แต่การขนส่งค้าขายรอไม่ได้ครับ

ผมเรียนว่า เราทำงานล่วงหน้ามา 2 ปี ในการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทย ลาว และจีน ไม่เพียงมีเป้าหมายขนส่งผลไม้และสินค้าเกษตรไปทุกมณฑลทุกเขตปกครองตนเองในจีน แต่เราได้วางเส้นทางขนส่งทางรถไฟสายนี้เชื่อมโยงไปเอเซียกลาง ตะวันออกลาง รัสเซีย และยุโรป รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับท่าบกของคาซัคสถานที่ Khorgos Gateway Dry Port ติดพรมแดนจีนบนเส้นทางรถไฟอีต้าอีลู่ เพื่อเป็นฮับอีกจุดของชุมทางขนส่ง (Hub & Spoke)

มีเรื่องราวอีกมากที่จะเล่าให้ฟัง

ถ้ามีโอกาสขอเชิญพี่ไพศาลมาฟังบรรยายสรุปอัพเดทข้อมูลใหม่ๆ ให้ทราบครับ และร่วมคิดร่วมสร้างอนาคตของประเทศด้วยกันที่กระทรวงเกษตรฯ นะครับ

สุดท้ายหมายเหตุวันนี้ ผมขอนำข้อความและข่าวสาร เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 มาให้อ่านนะครับ เพื่อเป็นข้อมูลที่พี่ไพศาลควรทราบอย่างยิ่งครับ

…อลงกรณ์ พลบุตร…

2 มกราคม 2565

……….

16 พฤศจิกายน 2563

ตู้คอนเทนเนอร์ผลไม้ไทยตู้ประวัติศาสตร์

ตู้คอนเทนเนอร์ขนผลไม้ทุเรียนมังคุดจากไทยตู้แรกในประวัติศาสตร์ผ่านลาวและเวียดนามกำลังยกด้วยรถเครนจากรถบรรทุกขึ้นแคร่รถไฟที่ “ด่านรถไฟผิงเสียง” ล่ากว่ากำหนดเดิม 1 วัน ได้สำเร็จในที่สุด หลังจากเราทำความตกลงกับจีนเปิดด่านใหม่คือด่านรถไฟผิงเสียงครับ…อลงกรณ์

……….

13 กันยายน 2564

ไทย จับมือ จีน ลงนามพิธีสาร ขยายด่านนำเข้า-ส่งออก กว่า 16 ด่าน หวังเปิดโอกาสผลไม้ไทย สู่แดนมังกรมากขึ้น

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้ลงนามร่วมกับ Mr.Wang Lingjun รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ที่ผ่านมาไทยและจีนได้มีการลงนามพิธีสารเกี่ยวการส่งออกและนำเข้าผลไม้ทางบก ผ่านประเทศที่สาม ทั้งหมด 2 ฉบับ ได้แก่ เส้นทาง R9 ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552 และเส้นทาง R3A ลงนามเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2554 ทั้งนี้ พิธีสารทั้ง 2 ฉบับ ครอบคลุม ผลไม้จากไทย 22 ชนิด

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเส้นทาง R9 และ R3A ได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเกิดปัญหาการจราจรติดขัด บริเวณหน้าด่านนำเข้าของจีน โดยเฉพาะด่านโหย่วอี้กว่าน ซึ่งส่งผลให้รถขนส่งสินค้าติดอยู่ที่ชายแดนจีนเป็นเวลานาน ทำให้สินค้าผลไม้สด โดยเฉพาะทุเรียนไทยที่ส่งไปจีนนั้นเสียหาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือแนวทางการแก้ไขปัญหากับจีน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 และได้เห็นชอบร่วมกัน ในหลักการจัดทำพิธีสารฉบับใหม่ เพื่อเปิดด่านนำเข้าผลไม้จากไทยไปจีนเพิ่มเติม

และต่อมาต้นปี 2563 ได้มอบหมายสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตร หารือกับฝ่ายจีน เพื่อจัดทำร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามจนสำเร็จลุล่วง จึงได้มีการลงนามร่วมกันในวันนี้ ส่งผลให้มีด่านนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น รวมจำนวนทั้งสิ้น 16 ด่าน

โดยเป็นด่านของไทย 6 ด่าน (เชียงของ มุกดาหาร นครพนม บ้านผักกาด บึงกาฬ หนองคาย) และด่านของจีน 10 ด่าน (โหยวอี้กวน โมฮ่าน ตงซิง ด่านรถไฟผิงเสียง ด่านรถไฟโม่ฮาน เหอโข่ว ด่านรถไฟเหอโข่ว หลงปัง เทียนเป่า และสุยโข่ว)

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1614 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน