มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1525 ครั้ง
“อธิบดีกรมราชทัณฑ์” สั่งปฏิรูปแรงงานผู้ต้องขัง ตามหลักสิทธิมนุษยชน สอดคล้องค่าตอบแทนขั้นต่ำเหมาะสม โปร่งใส และเป็นธรรม พร้อมพัฒนาพฤตินิสัยควบคู่
วันนี้ (1 มี.ค.65) นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธานในการประชุมผู้บริหารงานราชทัณฑ์ ครั้งที่ 3/2565 โดยมี นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายบริหาร นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฏิบัติการ นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายวิชาการ นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายพัฒนา พร้อมด้วยคณะ ผู้บริหารงานราชทัณฑ์ ร่วมประชุม ณ กรมราชทัณฑ์ ต.สวนใหญ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี
สืบเนื่องจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีผู้ต้องขังในประเทศไทยถูกบังคับให้ผลิตอวนให้กับบริษัทเอกชนโดยไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน นั้น กรมราชทัณฑ์ไม่ได้นิ่งนอนใจและที่ผ่านมาการทำงานของผู้ต้องขังเน้นในเรื่องการควบคุมความมั่นคงและปลอดภัย เพื่อให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการพัฒนาการฝึกวิชาชีพที่เน้นการพัฒนานำการควบคุม โดยจะกำหนดแนวทางการจ้างงานด้วยการให้ผู้ต้องขังเข้ารับการฝึกอาชีพด้วยความสมัครใจ อีกทั้งการคัดเลือกประเภทงานที่ให้ฝึกทำต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพของผู้ต้องขัง สำหรับอัตราค่าจ้างของผู้ต้องขังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของประเภทงานเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความเป็นธรรม และคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังทุกคน
ทั้งนี้ นอกจากการจ้างงานแล้วกรมราชทัณฑ์ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาพฤตินิสัยอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงภายหลังพ้นโทษ อาทิ การฝึกอาชีพช่างไม้ ช่างประปา ช่างไฟฟ้า ช่างเสริมสวย เบเกอรี เป็นต้น ควบคู่กับการพัฒนาความเข้มแข็งด้านจิตใจ เช่น หลักสูตรสัคคสาสมาธิ การสวดมนต์และการเล่นดนตรีเพื่อขัดเกลาสภาพจิตใจ รวมถึงการให้โอกาสด้านการศึกษากับผู้ต้องขังทุกระดับ
ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับการทำงานของผู้ต้องขังทั้งระบบ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้มีข้อสั่งการปฏิรูปแรงงานผู้ต้องขัง โดยให้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาและคณะกรรมการปฏิรูประบบการทำงานผู้ต้องขัง กรมราชทัณฑ์ ขึ้น เพื่อศึกษาระบบการทำงานของผู้ต้องขังตามข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ของสหประชาชาติ และให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานความปลอดภัย ด้านสุขอนามัยและแรงงาน รวมถึงค่าตอบแทนต่าง ๆ ประกอบด้วย สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด แรงงานจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด และหอการค้าจังหวัดในรูปแบบของคณะกรรมการฯ ของแต่ละเรือนจำ เพื่อพิจารณาอัตราค่าจ้างและค่าตอบแทนให้มีความเหมาะสม โปร่งใส และเป็นธรรม สอดคล้องกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งให้เรือนจำรายงานให้กรมราชทัณฑ์ทราบภายใน 15 วัน เพื่อยกเลิกการจ้างงานที่อัตราค่าจ้างต่ำกว่ามาตรฐาน เพื่อให้การทำงานสอดคล้องกับสภาพสังคม ความต้องการของตลาด และเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทักษะการทำงานภายใต้กฎหมายแรงงานและหลักการสากลระหว่างประเทศด้านแรงงานมากขึ้น
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1525 ครั้ง