เกษตร จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “อะโวคาโด ไม้ผลทางเลือก สู่ทางรอด บนพื้นที่สูง” หวังผลักดันอะโวคาโดเป็นพืชเศรษฐกิจหลักบนพื้นที่สูง

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1807 ครั้ง

นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับพี่น้องเกษตรกรบนพื้นที่สูง จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดพะเยา จัดกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเกษตรบนพื้นที่สูง ในประเด็น “อะโวคาโด ไม้ผลทางเลือก สู่ทางรอด บนพื้นที่สูง” ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่โครงการหลวง ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดพะเยา (เกษตรที่สูง) ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 2-4 มีนาคม 2565 ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และหน่วยงานภาคี เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียบรู้ ประสบการณ์ แนวคิด และข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีความเข้าใจ เกิดแนวคิดในการต่อยอดอาชีพ และสามารถนำความรู้เทคโนโลยีการเกษตรบนพื้นที่สูงไปใช้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ นำไปสู่กระบวนการขับเคลื่อนการส่งเสริมการปลูกอะโวคาโดให้เป็นพืชเศรษฐกิจหลักบนพื้นที่สูง ต่อไป

สำหรับกิจกรรมภายในงาน ยังจัดให้มีกิจกรรมสร้างการรับรู้เทคโนโลยีการเกษตรบนพื้นที่สูงให้แก่เกษตรกร โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (เกษตรที่สูง) ทั้ง 8 ศูนย์ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน พะเยา ตาก เลย และกาญจนบุรี ได้นำเทคโนโลยีการผลิตที่ประสบความสำเร็จมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกร ประกอบด้วย การปลูกอะโวคาโดคุณภาพในพื้นที่โครงการหลวง วิธีขยายพันธุ์อะโวคาโด การผลิตและแปรรูปกาแฟอราบิก้า การผลิต มะคาเดเมีย กัญชง การปลูกและการแปรรูปบุกเพื่อการค้า การศึกษาผลผลิตบุกภายใต้ร่มเงาไม้ผล 2 ชนิด และระบบการให้น้ำพืชทางการเกษตร รวมถึงมีการจัดแสดงนิทรรศการของหน่วยงานภาคีเครือข่ายและเกษตรกรร่วมด้วย

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในโครงการพัฒนาพื้นที่โครงการหลวง มีพื้นที่ดำเนินการจำนวน 39 แห่ง ในพื้นที่ 6 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายม้ง กะเหรี่ยง และมูเซอ โดยดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายผลองค์ความรู้ กระบวนการเรียนรู้และเทคโนโลยีของการพัฒนาพื้นที่โครงการหลวงไปสู่พื้นที่สูงอื่น ๆ ของประเทศ ผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร โดยอาศัยหลักการดำเนินงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน โดยวิธีการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีด้านการผลิตพืชที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกรชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง เพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกพืชเสพติด การบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า การทำไร่เลื่อนลอย การทำลายแหล่งต้นน้ำลำธาร ลดการใช้สารเคมีบนพื้นที่สูง เพื่อให้ชุมชนบนพื้นที่สูงมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความมั่นคงทางอาหาร มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1807 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน