รอง ผบ.ทร. ตรวจเยี่ยมการฝึกยิงตอร์ปิโด MK46 กลางอ่าวไทยตอนล่าง

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 697 ครั้ง

รองผู้บัญชาการทหารเรือ ตรวจเยี่ยมการฝึกยิงตอร์ปิโด MK46 ในการฝึกภาคทะเล ของการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565

วันนี้ (17 มี.ค.65) พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ รองผู้บัญชาการทหารเรือ (รอง ผบ.ทร.) ในฐานะผู้อำนวยการ การฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 เดินทางไปสังเกตการณ์ การฝึกยิงตอร์ปิโด MK46 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (FTX) การฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร ทำการฝึกยิง ณ บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนล่าง โดยมี ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ ร่วมสังเกตการณ์

การฝึกยิงตอร์ปิโด MK46 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบระบบควบคุมการยิง และศักยภาพของลูกตอร์ปิโด ทดสอบความพร้อมของหน่วยยิง รวมถึงเพิ่มพูนประสบการณ์และความชำนาญในการยิงตอร์ปิโดของกำลังพลประจำเรือ โดยการจัดกำลังทางเรือที่ร่วมการฝึก แบ่งตามหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละหมู่เรือ ได้แก่ หมู่เรือคุ้มกันและยิงตอร์ปิโด ประกอบด้วย เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงสายบุรี เรือหลวงมกุฎราชกุมาร และเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำแบบที่ 1 (S-70 B) หรือ ซีฮอว์ค โดยมี เรือหลวงสุโขทัย เป็นเรือยิงหลัก และเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เป็นเรือยิงสำรอง หมู่เรือตรวจสอบและรักษาความปลอดภัยสนามยิง ประกอบด้วย เรือหลวงตาปี เรือหลวงคลองใหญ่ และเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง จำนวน 2 ลำ หมู่เรือปล่อยเป้า ประกอบด้วย เรือหลวงอ่างทอง และ เรือ ต.235 หมู่เรือตรวจพื้นที่สนามยิง ประกอบด้วย เรือหลวงบางระจัน และเรือหลวงหนองสาหร่าย โดยมี พล.ร.ต.สมบัติ นาราวิโรจน์ ผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 1 เป็น ผู้บังคับหมวดเรือฝึกยุทธวิธีร่วมกองเรือและการฝึกยิงตอร์ปิโดแบบ MK46

การยิงในครั้งนี้ ใช้สนามฝึกในพื้นที่อ่าวไทยตอนล่าง บริเวณระยะห่างจากเกาะพะงันไปทางทิศตะวันออกประมาณ 46 กิโลเมตร ทำการยิงในระยะ 2,700 หลา (2.5 กิโลเมตร) ที่ความลึก 53 เมตร โดยเป้าฝึกเป็นเป้าใต้น้ำจำลองเดิม ที่กรมโรงงาน ฐานทัพเรือสัตหีบ ได้จัดสร้างขึ้นสำหรับใช้ในการฝึกยิงตอร์ปิโด เมื่อปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา และได้นำ HYDRO PHONE จำลองแบบการดักรับสัญญานเสียงใต้น้ำ ในลักษณะเดียวกับการทำงานของโซโนบุย ซึ่งกรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ ได้นำมาใช้ในการถ่ายทอดสัญญาณเสียงและระบบแสดงภาพใต้น้ำ เพื่อติดตามการเคลื่อนที่ และการชนเป้าของลูกตอร์ปิโดแบบ Real Time โดยสามารถแสดงภาพและเสียง ความถี่ตอร์ปิโดเริ่มทำงานจนถึงชนเป้า

สำหรับ การฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 (การฝึก ทร.65) ในปีนี้ ทำการฝึกในขั้นสถานการณ์ปกติ – ความขัดแย้งระดับต่ำ ดำเนินการฝึกในกระบวนการวางแผนทางทหารเพื่อการจัดทำคำสั่งยุทธการ รวมถึงการฝึกด้านการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การฝึกปฏิบัติการช่วยเหลือและบรรเทาภัยพิบัติ ตลอดจนการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (FTX) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบแผนป้องกันประเทศ ตลอดจนทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหารและแนวทางการใช้กำลัง การอำนวยการยุทธ์ตามแผนที่ใช้ในการฝึก รวมถึงเพื่อทดสอบขีดความสามารถปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ โดยใช้โครงสร้างจริงของหน่วยทุกระดับของกองทัพเรือเพื่อให้สอดคล้องกับแนวความคิดการจัดฝึก “รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น”

ในส่วนของการฝึกปัญหาที่บังคับการ (CPX) เป็นการฝึกกระบวนการวางแผนทางทหาร ในขั้นสถานการณ์ปกติจนถึงขั้นความขัดแย้งระดับต่ำ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการจัดทำคำสั่งยุทธการเพื่อนำไปใช้ในการอำนวยการยุทธ์ โดยมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้อง อาทิ การป้องกันฐานทัพเรือและการควบคุมเรือ การปฏิบัติการข่าวสาร การส่งกำลังบำรุง การปฏิบัติการสงครามไซเบอร์และการบังคับใช้กฎหมายในทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฝึกการปฏิบัติของ ศรชล.เพื่อสร้างแนวทางที่ชัดเจนด้านการสนธิกำลังในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล อาทิ แนวความคิดในการควบคุมเส้นทางเรือพาณิชย์ รวมทั้งจัดให้มีการฝึกหัวข้อการปฏิบัติการเรือดำน้ำสำหรับเตรียมการรองรับเรือดำน้ำที่จะเข้าประจำการ โดยทำการฝึกรวม 3 สัปดาห์

สำหรับ การฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล ซึ่งเป็นการฝึกการปฏิบัติของหน่วยกำลังรบและการสนับสนุนของหน่วยที่เกี่ยวข้อง มีหัวข้อการฝึกที่สำคัญคือ การปฏิบัติการของกองกำลังทางเรือเฉพาะกิจปฏิบัติการระยะไกล การยิงตอร์ปิโด MK46 จากเรือหลวงสุโขทัย ในพื้นที่อ่าวไทย ในวันนี้ การฝึกสนธิกำลังดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง ซึ่งจะมีการฝึกปฏิบัติการร่วมของกองกำลังนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ รฝ.) การปฏิบัติการของ สอ.รฝ. ในการสนับสนุนการโจมตีเรือผิวน้ำ บริเวณสนามฝึกยิงปืนทุ่งโปรง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และบริเวณสนามฝึกกองทัพเรือบ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 21 เมษายน 2565

นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการฝึกปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภับพิบัติ (HADR) ด้วยกำลังทางเรือตามแนวคิด From The Sea การค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบทางทะเล (Combat Sea SAR) โดยจะทำการฝึกในพื้นที่ เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 โดยเชิญ กำลังจากส่วนราชการอื่น ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการฝึก

การฝึกในครั้งนี้ กองทัพเรือได้จัดกำลังพลจากกองเรือยุทธการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ตลอดจนหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือ เข้าร่วมการฝึก โดยมียุทโธปกรณ์ที่สำคัญเข้าร่วมการฝึก อาทิ เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงสายบุรี เรือหลวงอ่างทอง เรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือหลวงตาปี เรือหลวงสงขลา เรือหลวงวังใน เรือตรวจการณ์ กำลังอากาศนาวี ปืนใหญ่ ปืนต่อสู้อากาศยานแบบต่างๆ รวมถึงกำลังจากกองทัพบก และอากาศยานจากกองทัพอากาศอีกจำนวนหนึ่ง  

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 697 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน