มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2514 ครั้ง
ฃ
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในเขต “Bean Belt” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกกาแฟและมีความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม สามารถปลูกกาแฟได้ทั้งพันธุ์อาราบิก้า ในพื้นที่ภาคเหนือ และพันธุ์โรบัสต้าในพื้นที่ภาคใต้ ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่เน้นการบริหารจัดการร่วมกัน รวมกันผลิต และรวมกันจำหน่าย โดยมีตลาดรองรับที่แน่นอน ผ่านการถ่ายทอดความรู้โดยใช้แนวทางการพัฒนา Smart Group ของกรมส่งเสริมการเกษตร ในการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรทั้งด้านการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพของเกษตรกรสู่ Smart Farmer และสร้างความเข้มแข็งด้านการตลาด โดยใช้หลักตลาดนำการผลิต ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งยังได้มีการส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรให้กับกลุ่มแปลงใหญ่ผ่านโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดอีกด้วย
“สำหรับแปลงใหญ่กาแฟบ้านมณีพฤกษ์ หมู่ที่ 11 ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ซึ่งมีผลการจัดชั้นคุณภาพ A ถือเป็นอีกความสำเร็จที่เกิดขึ้นภายใต้การส่งเสริมของกรมส่งเสริมการเกษตร จนเกิดผลสำเร็จในรูปแบบแปลงใหญ่กาแฟที่โดดเด่น ทั้งด้านการบริหารจัดการที่มีการควบคุมทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การดูแลต้นกาแฟ, กระบวนการแปรรูป จนถึงการจัดส่งผลผลิตถึงมือผู้บริโภค ด้านลดต้นทุนการผลิต เช่น การบริหารปัจจัยการผลิตร่วมกันของสมาชิกแปลงใหญ่ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกกาแฟที่เหลือใช้ในกระบวนการผลิต ขณะที่ด้านต้นพันธุ์กาแฟ ทางกลุ่มได้มีการคัดเลือกสายพันธุ์ดีและขยายพันธุ์ไว้สำหรับใช้ภายในกลุ่มด้วย”
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อไปว่า ขณะที่ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต กรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้าไปสนับสนุนกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ภายใต้โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ทำให้กลุ่มแปลงใหญ่กาแฟบ้านมณีพฤกษ์ สามารถจัดหาครุภัณฑ์ที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการผลิตกาแฟ ซึ่งช่วยให้กลุ่มสามารถแปรรูปผลผลิตกาแฟเชอรี่ได้ถึง 1,400 กิโลกรัม/ชั่วโมง พร้อมทั้งการสนับสนุนองค์ความรู้ยังทำให้กระบวนการผลิตมีการควบคุมอย่างเข้มงวดในทุกรอบการผลิตและการปรับปรุงคุณภาพเพื่อให้ได้กาแฟที่มีมาตรฐานเดียวกัน อีกทั้งทางกลุ่มยังตั้งข้อกำหนดในการพัฒนาคุณภาพการเก็บเมล็ดกาแฟของสมาชิกแปลงใหญ่ ซึ่งจะต้องมีเมล็ดเขียวและวัสดุอื่นปนไม่เกิน 5 % อีกทั้งสมาชิกแปลงใหญ่จะต้องพัฒนาทักษะการชิมกาแฟ หรือ Cupping เพื่อการตรวจสอบคุณภาพก่อนส่งให้แก่ผู้บริโภค ขณะที่ด้านการตลาดได้มีการพัฒนาตามนโยบายตลาดนำการผลิต ด้วยการเพิ่มช่องทางการตลาดแบบออนไลน์ และเน้นการขนส่งให้มีความรวดเร็วได้มาตรฐาน เพื่อจัดส่งสินค้าได้ทันตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งสร้างความพึ่งพอให้กับลูกค้าเป็นอย่างมาก
ด้าน นายวิชัย กำเนิดมงคล ประธานแปลงใหญ่กาแฟบ้านมณีพฤกษ์ กล่าวว่า จากที่กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรอำเภอทุ่งช้าง และสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน ได้เข้ามาส่งเสริมช่วยเหลือได้ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกร จนกลายมาเป็นวิสาหกิจชุมชน และเป็นกลุ่มแปลงใหญ่กาแฟบ้านมณีพฤกษ์ เมื่อปี พ.ศ.2560 และปัจจุบันได้เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อใช้การจัดซื้ออุปกรณ์ ได้แก่ เครื่องคั่วกาแฟ เครื่องชงกาแฟ เครื่องบดกาแฟ เครื่องซีลสายพาน เครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องพิมพ์
ประธานแปลงใหญ่กาแฟบ้านมณีพฤกษ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกทั้งสิ้น 76 คน พื้นที่ปลูกกาแฟ 1,000 ไร่ ผลผลิตกาแฟปีที่ผ่านมาผลิตได้ 8 ตัน พื้นที่ปลูกกาแฟอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,400 – 1,600 เมตร ในสวนกาแฟของสมาชิก จะเน้นแนวทางของสร้างป่าสร้างรายได้ เพื่อสร้างผลผลิตกาแฟคุณภาพในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ โดยผลิตภัณฑ์กาแฟขึ้นชื่อ ได้แก่ กาแฟ “เกอิชา” ซึ่งได้รับการจัดอันดับให้เป็น 10 สุดยอดกาแฟไทยประจำปี 2019 และได้รางวัลชนะเลิศการประกวด Thailand Coffee Fest 2021 ประเภท Natural/Dry Process โดยมีจำหน่ายในขนาด 100 กรัม ราคา 800 บาท หรือ กิโลกรัมละ 8,000 บาท
“การได้รับสนับสนุนจากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ได้สร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มเป็นอย่างมาก และสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ได้กำหนดให้บ้านมณีพฤกษ์ เป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม โดยงบประมาณที่ได้รับได้นำไปใช้จัดหาครุภัณฑ์เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตกาแฟ ได้แก่ เครื่องคั่วกาแฟ ส่งผลให้กระบวนการผลิตและปริมาณการผลิตมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งสามารถใช้อุปกรณ์การชงกาแฟ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามายังศูนย์เรียนรู้เรื่องกาแฟและวัฒนธรรม ที่กำลังจัดสร้างขึ้น สำหรับผู้สนใจต้องมาชิมกาแฟของหมู่บ้านมณีพฤกษ์ ช่วงเวลาที่เหมาะสมอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม สามารถติดต่อล่วงหน้าได้ โดยที่ทำการกลุ่มตั้งอยู่ที่โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน (พ.ม.พ.) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ 6 บ้านมณีพฤกษ์ หมู่ที่ 11 ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน โทร 06-3562-6696 ทางกลุ่มพร้อมต้อนรับทุกคนที่มาเยือน” นายวิชัย กล่าวในที่สุด
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2514 ครั้ง