มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2013 ครั้ง
กรมส่งเสริมการเกษตร เจ๋ง ทำโครงการควบคุมโรคใบด่างมันแบบครอบคลุมพื้นที่ สำเร็จ 100% จัดส่งท่อนพันธุ์ดีกว่า 25 ล้านลำ ถึงมือให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเรียบร้อยแล้ว
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ได้อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ วงเงิน 1,329.22 ล้านบาท โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายครอบคลุมพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทุกจังหวัด ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 – 31 มีนาคม 2565 ผ่านกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย 1) กำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างและจ่ายค่าชดเชยการทำลายต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคในอัตราไร่ละ 2,160 บาท 2) ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและทนทานโรคใบด่าง โดยการสนับสนุนท่อนพันธุ์ 500 ลำต่อไร่ และ 3) ใช้มาตรการทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507 ในกรณีเกษตรกรไม่ยินยอมให้ทำลายต้นมันสำปะหลังที่ติดโรค เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค
“สำหรับผลการดำเนินงานตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มีนาคม 2565) มีผลการดำเนินการ ดังนี้ 1) การกำจัดต้นมันสำปะหลังเป็นโรคใบด่างในพื้นที่ระบาด 65,440.64 ไร่ พร้อมจ่ายค่าชดเชยการทำลายต้นเป็นโรคให้กับเกษตรกรเจ้าของแปลง จำนวน 5,249 ราย รวมเป็นเงิน 141,351,782.40 บาท และ2) การจัดส่งท่อนพันธุ์สะอาดและทนทานต่อโรคใบด่างตามที่เกษตรกรต้องการรวม 25,508,961 ลำ ขณะนี้ได้ดำเนินการส่งมอบท่อนพันธุ์ถึงมือเกษตรกรครบถ้วนแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ อาทิ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากจังหวัดกาญจนบุรี นครราชสีมา สระแก้ว สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยนาท เป็นต้น” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
นายเข้มแข็ง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ ถือเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น ด้วย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังมีความห่วงใย และต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร จัดทำแผนปฏิบัติการด้านมาตรการจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลังระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับผู้เกี่ยวข้องในการป้องกันกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังที่ยั่งยืนต่อไป
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2013 ครั้ง