มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1188 ครั้ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยตรี ชัยยง ศิริพรมงคลชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า มทร.สุวรรณภูมิ นอกจากมุ่งเน้นจัดการศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีชั้นสูงที่เน้นการปฏิบัติแล้วยังส่งเสริมการให้บริการแก่ชุมชนสังคมบนพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยนำนวัตกรรมถ่ายทอดสู่ชุมชนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ จึงพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม กระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกลด้านเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดต้นทุน ลดการใช้แรงงาน และความทนทานของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะถูกนำมาใช้พัฒนาวิถีการทำการเกษตร การอำนวยความสะดวกให้กับชีวิต ของเกษตรกรยุคใหม่ (Smart Farmer) แทบทุกด้านนวัตกรรมเครื่องจักรกลเกษตร จึงมีบทบาทที่สำคัญ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรเลือกใช้งานและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยตรี ชัยยง ศิริพรมงคลชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องยนต์เล็กดีเซลเพื่อการเกษตรเป็นเครื่องจักรที่เกษตรกรนิยมใช้ในการทำเกษตรกรรม ซึ่งจะใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสามารถใช้เป็นเครื่องยนต์ต้นกำลังขับเคลื่อนยานพาหนะ รถไถนา เครื่องสูบน้ำ และประโยชน์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม ปัจจุบันน้ำมันดีเซลมีราคาสูงขึ้น เกษตรกรต้องการลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจึงดัดแปลงชิ้นส่วนภายในของเครื่องยนต์เล็กดีเซลเพื่อการเกษตรมาใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงอย่างเดียว เมื่อดัดแปลงเครื่องยนต์จะมีข้อจำกัดคือไม่สามารถกลับไปใช้น้ำมันดีเซลได้อีกต่อไป
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ตนจึงได้ศึกษาพัฒนา นวัตกรรมเครื่องจักรกลสำหรับใช้ในการเกษตรที่สามารถใช้น้ำมันดีเซล และสามารถใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์เครื่องเดียวกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนสลับให้ทำงานได้ในแบบเครื่องยนต์ดีเซลและทำงานได้ในแบบเครื่องยนต์แก๊สโซลีน ในการพัฒนานวัตกรรมเครื่องยนต์เล็กดีเซลเพื่อการเกษตร ครั้งนี้ใช้เครื่องยนต์สูบเดียว 4 จังหวะ ขนาดกระบอกสูบ 92 มิลลิเมตร ระยะชัก 96 มิลลิเมตร ปริมาตรกระบอกสูบ 638 มิลลิลิตร อัตราส่วนการอัด 16.1 ต่อ 1 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ระบบฉีดเชื้อเพลิงเข้าห้องเผาไหม้โดยตรง (Direct Injection) มีผิวหน้าฝาสูบเรียบ เมื่อจะทำการดัดแปลงมาใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิง
จึงต้องลดอัตราส่วนการอัดลงเหลือประมาณ 8 ถึง 12 ต่อ 1 โดยการสร้างและติดตั้งห้องเผาไหม้เสริมพร้อมหัวเทียนเข้าแทนที่ในตำแหน่งของหัวฉีดน้ำมันดีเซลเดิม เป็นนวัตกรรมต้นแบบเครื่องยนต์ โดยห้องเผาไหม้เสริมจะทำหน้าที่ลดอัตราส่วนการอัดลงให้สามารถรองรับการใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะเป็นลักษณะการทำงานแบบเครื่องยนต์แก๊สโซลีน การกลับไปใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงนั้น ทำได้โดยการถอดห้องเผาไหม้เสริมออก แล้วติดตั้งหัวฉีดน้ำมันดีเซลแทนที่ห้องเผาไหม้เสริม ซึ่งจะเป็นลักษณะการทำงานแบบเครื่องยนต์ดีเซล นวัตกรรมนี้พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกแก่เกษตรกรในการเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาต่ำตามสภาวะความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงทั้งสองชนิด
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1188 ครั้ง