มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1438 ครั้ง
กรมราชทัณฑ์ เริ่มโครงการ MOU สถานศึกษาเพื่อการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง (1 เรือนจำ 1 MOU) เปิดโอกาสให้เรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ ดำเนินการประสานความร่วมมือกับสถานศึกษาในพื้นที่ กำหนดหลักสูตรการศึกษาและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังให้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรมในพื้นที่ของเรือนจำแต่ละแห่งอย่างเหมาะสม
วันนี้ (6 พ.ค.65) นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า โครงการ MOU สถานศึกษาเพื่อการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง หรือ 1 เรือนจำ 1 MOU เป็น 1 ในโครงการเน้นหนักตามนโยบายเพื่อการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ ในปี 2565 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เรือนจำและทัณฑสถานแต่ละแห่ง สามารถประสานความร่วมมือกับสถานศึกษาในพื้นที่ เพื่อกำหนดหลักสูตรการศึกษาและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังได้เอง ในลักษณะของการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ Memorandum of Understanding (MOU) กับสถานศึกษา
โดยกำหนดให้ต้องดำเนินการอย่างน้อย เรือนจำละ 1 ความร่วมมือ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมถึงการสนับสนุนด้านทรัพยากรด้านต่าง ๆ ในการจัดการศึกษาและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังที่สอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่ ให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสในการพัฒนาชีวิตและเสริมสร้างปัญญา ตลอดจนทักษะความสามารถของตนเองอย่างสร้างสรรค์ มีเจตคติที่ดีและสามารถกลับตนเป็นคนดี ไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก
นายอายุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน มีเรือนจำและทัณฑสถาน ที่สามารถดำเนินการตามโครงการแล้วเสร็จ จำนวน 35 แห่ง โดยแบ่งเป็นการ MOU กับสถาบันอุดมศึกษา 3 แห่ง สถาบันอาชีวศึกษา 9 แห่ง ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 15 แห่ง และสถาบัน/หน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชนอื่น ๆ ที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา 8 แห่ง ขณะที่เรือนจำและทัณฑสถานอื่น ๆ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการประสานความร่วมมือเพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมืออีกครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2565)
“โครงการ 1 เรือนจำ 1 MOU ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาภาคีเครือข่ายภายนอก ต่อกิจกรรมการศึกษาและการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ในการร่วมจัดทำแผน กำหนดหลักสูตรหรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เพื่อช่วยให้เรือนจำในแต่ละพื้นที่สามารถพัฒนาหลักสูตร ทั้งด้านการศึกษาและการพัฒนาพฤตินิสัยที่มีความสอดคล้องกับท้องถิ่นและมีความแตกต่างกัน โดยการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว จะช่วยให้สามารถพัฒนาหลักสูตรที่มีความหลากหลาย มีแนวทางการพัฒนาพฤตินิสัยที่สอดคล้องกับพื้นที่ ได้รับการยอมรับจากสังคมภายนอก อันจะช่วยให้ผู้ต้องขังสามารถเรียนรู้และนำไปต่อยอด ปรับใช้ในการดำรงชีวิตภายหลังพ้นโทษได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวปิดท้าย
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1438 ครั้ง