“เฉลิมชัย” สั่งกรมประมงเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนชาวประมงทุกกลุ่ม

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 872 ครั้ง

เฉลิมชัย สั่งกรมประมงเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงทุกกลุ่มสมาคมประมงฯ พอใจรัฐมนตรีเกษตรทำงานไวตอบโจทย์ทุกประเด็นปัญหาพร้อมประกาศสนับสนุนร่างพรบ.สภาการประมงฯ และร่างพรบ.กองทุนพัฒนาการประมง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมระหว่าง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน กับ นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการบริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย (ชุดใหม่)อาทิ นายประเสริฐ แตกช่อ รองประธานกรรมการฯ อาวุโส นายบุญชู แพใหญ่ รองประธานกรรมการฯ ภาคใต้ฝั่งอันดามัน นายไตรฤกษ์ มือสันทัด รองประธานกรรมการฯ ภาคใต้ตอนบน ดร.สุรเดช นิลอุบล รองประธานกรรมการฯ ภาคใต้ตอนล่าง นายพิชัย แซ่ซิ้ม รองประธานกรรมการ ฯ ภาคกลาง และ นายสฤษฎ์พัฒน์ ภมรวิสิฐ รองประธานกรรมการฯ ฝ่ายต่างประเทศ พร้อมด้วย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรี นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรี นายสมเกียรติ กอไพศาล ประธานคณะทำงานรัฐมนตรี นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เสนอประเด็นความเดือดร้อนจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งกฎหมายกฎระเบียบของพรก.การประมง เช่น

1. ปัญหาต้นทุนการทำประมงที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันและต้นทุนอื่นๆในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวมีผลต่อราคาสินค้าประมง

2. ขอให้รัฐบาลเร่งรัดโครงการนำเรือออกนอกระบบ

3. ปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงโดยขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง ปีละ 2 ครั้งๆ ละ 3 เดือน

4. เสนอให้เร่งรัดการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการเรือประมงพื้นบ้านได้รับสิทธิที่ควรได้รับ

5. ขอให้แก้ไขร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ (ฉบับที่ ….) พ.ศ….ตามที่สมาคม ฯ เสนอ รวมทั้งพรก.ประมงที่ขัดต่อหลักกฎหมายสากล

6. ไม่เห็นด้วยกับโครงการเพิ่มศักยภาพการตรวจสอบและเฝ้าระวังการทำการประมงผิดกฎหมาย ณ ท่าเทียบเรือประมงของหน่วยงานอื่น (ไม่ใช่กรมประมง) ที่จะมีการบังคับให้ติดกล้องวงจรปิดตามแพปลาเอกชน และต้องรับภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

7. เรื่องการออกข่าวในสื่อสาธารณะต่าง ๆ กรณี บก.ปคม. เปิดยุทธการ “เรือมนุษย์” เพื่อกวาดล้างจับกุมผู้ต้องหาขบวนการค้ามนุษย์บังคับใช้แรงงานบนเรือประมงซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย

8. กรณีเรือประมง 5 ลำ ที่สงขลาและ SEABOOK ปลอม ในพื้นที่ชลบุรี

9. การผลักดันและสนับสนุนการทำปะการังเทียม

10. ขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาค่า MSY ชุดใหม่

11. ขอให้เร่งรัดการออกใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำที่ต้องใช้เวลานานกว่า 2 เดือน ซึ่งความล่าช้าจากหน่วยงานอื่น (ไม่ใช่กรมประมง) ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นจากความล่าช้า

12. สนับสนุนร่างพรบ.สภาการประมงแห่งประเทศไทยและร่างพรบ.กองทุนพัฒนาการประมงโดยจะร่วมผลักดันกับกระทรวงเกษตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้จัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวร่วมกับร่างกฎหมายของสมาคมฯ

ทางด้าน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ ยืนยันว่า จะติดตามดูแลทุกประเด็นข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงทุกกลุ่ม ส่วนเรื่องกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายพรก.ประมงอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติแต่ตนก็ยินดีช่วยประสานในกรณีเกิดปัญหา

นอกจากนี้ รัฐมนตรีเกษตรฯ ได้มอบหมายกรมประมงเร่งรัดดำเนินการในประเด็นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสั่งการให้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาประเด็นการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกฎระเบียบต่างๆ ให้เป็นธรรมเหมาะสมต่อไป โดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วนกรณีปัญหาแรงงานตามมาตรา 83 จะประสานกับรัฐมนตรีแรงงานให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมทำงานแบบมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับชาวประมงทุกกลุ่มทั้งประมงนอกน่านน้ำ ประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้านและประมงเพาะเลี้ยงรวมทั้งอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบภายใต้คณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทยและกรมประมง ทั้งนี้ยังได้จัดตั้งองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นกว่า 2,600 องค์กร ใน 50 จังหวัด พร้อมสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาอาชีพและศักยภาพองค์กรละ 1 แสนบาท ปีละ 200 องค์กร ในการพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างศักยภาพของประมงพื้นบ้านและท้องถิ่น โดยล่าสุดรัฐมนตรีเกษตรได้ประชุมและกำหนดเป้าหมายการฟื้นฟูการเพาะเลี้ยงกุ้งปีละ 4 แสนตัน กับร่วมกับเครือข่ายสมาคมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และสมาคมอุตสาหกรรมอาหารทะเล ตลอดห่วงโซ่การผลิต สำหรับในส่วนประมงพาณิชย์และประมงนอกน่านน้ำถือว่าเป็นฐานเศรษฐกิจการประมงที่สำคัญและได้รับผลกระทบจากมาตรการ IUU วิกฤติโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะเพิ่มความร่วมมือกันฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคต่างๆ ไปด้วยกันตามนโยบายของรัฐมนตรีเกษตร

นายกสมาคมการประมงฯ ได้แสดงความขอบคุณและพอใจต่อการหารือครั้งนี้ ที่รัฐมนตรีเกษตรฯ ใส่ใจดูแลชาวประมงด้วยดีมาตลอด และตอบทุกประเด็นขอเสนออย่างจริงใจตรงไปตรงมา โดยทางสมาคมจะเร่งเสนอรายชื่อคณะทำงานมาให้โดยเร็ว

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 872 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน