ททท. เผย ต่างชาติทะลักเข้าไทยทะลัก 3 แสนคน ชี้ คนปรับตัวทัวร์ส่วนตัวมากขึ้น 

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1180 ครั้ง

ททท. เผย เที่ยวปลอดโควิด แมสก์ยังสำคัญ ชี้ คนปรับตัวทัวร์ส่วนตัวมากขึ้น ต่างชาติแห่เข้าไทยทะลัก 10 วัน 3 แสนคน

นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวในรายการ Covid Forum ที่นี่มีคำตอบ จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ สมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ถึงประเด็น ท่องเที่ยวอย่างไรให้ห่างไกลโควิด-19” ว่า ช่วงการระบาดโควิด ไทยสูญเสียรายได้ด้านการท่องเที่ยวกว่า 90% จากนักท่องเที่ยวปีละกว่า 40 ล้านคน เหลือเพียง 4 แสนคน แต่ระยะหลังการระบาดโควิดในประเทศไทยที่เริ่มลดลง ทำให้มีการท่องเที่ยวมากขึ้นตามแนวคิดว่า เที่ยวให้หายแค้น เราจึงมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัว ซึ่งการผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศดำเนินไปอย่างมีขั้นตอนสอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้เริ่มฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลายสถานประกอบการกลับมาเปิดให้บริการ โดยที่ผ่านมา ททท.ได้พยายาม Up และ Re Skill ให้ผู้ประกอบการทราบถึงพฤติกรรมนักท่องเที่ยวหลังโควิด เช่น การใส่ใจเรื่องสุขภาพ มาตรการความปลอดภัย การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ไปจนถึงด้านเทคโนโลยีที่ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อปรับตัว และเดินทางไปสู่ Next normal ที่เป็นขั้นกว่าของการใช้ชีวิตคู่โควิดต่อไป

“ท่องเที่ยวต่อไปจะเป็นลักษณะดิจิทัลทัวร์ลิซึ่ม ใช้ระบบออนไลน์เป็นหลัก นำเทคโนโลยีมาช่วย เช่น การจองคิวผ่านแอพพลิเคชั่นเพื่อเข้าอุทยานต่างๆ เพราะเรายังต้องระวังโรคระบาดอยู่ พร้อมกับการให้ความรู้ท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” นายนิธี กล่าว

นายนิธี กล่าวต่อว่า สำหรับโควิดทำให้การท่องเที่ยวได้พัฒนามาตรฐานใหม่คือ SHA และ SHA Plus ภายใต้การกำกับจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อสถานบริการมีความปลอดภัยด้านสุขภาพมากขึ้น ทั้งนี้ หลังจากที่มีการเปิดประเทศมากขึ้นเราจึงพัฒนามาตรฐาน SHA Extra Plus ที่สถานประกอบการต้องมีโรงพยาบาลคู่สัญญา กรณีรับและส่งต่อผู้ติดเชื้อโควิดด้วย

นายนิธี กล่าวว่า เอกสารเพื่อประกอบการเดินทางเข้าประเทศ ได้แก่ ไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) วัคซีนพาสสปอต ประกันสุขภาพ และผลการตรวจหาเชื้อโควิดด้วย ATK ทั้งนี้ เมื่อมีการผ่อนคลายมากขึ้นก็จะเหลือเพียงพาสสปอตและวัคซีน ซึ่งก็จะการปรับแนวทางการใช้ไทยแลนด์พาสที่มากขึ้น เช่น การกรอกข้อมูลล่วงหน้าเพื่ออำนวยความสะดวกมากขึ้น ขณะเดียวกัน คนไทยที่จะเดินทางไปต่างประเทศต้องศึกษาข้อมูลประเทศปลายทางด้วย ว่าจะต้องมีเอกสารใดเพื่อประกอบการเดินทาง อย่างไรก็ตาม หลังจากไทยประกาศเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ก็มีคนลงทะเบียนไทยแลนด์พาสกว่า 3 แสนคน โดมีการเดินทางเข้าประเทศเฉลี่ยวันละ 1 หมื่นคน หากมีการเปิดสายการบินเพิ่มก็คาดว่าจะมีคนเดินทางมากยิ่งขึ้นไป

ด้าน พญ.พิมพ์พรรณ พิสุทธิ์ศาล อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การประเมินความเสี่ยงของผู้เดินทางทั้งภายในและนอกประเทศ จะไม่แตกต่างกัน คือ 1. ปัจจัยเสี่ยงบุคคล ประกอบด้วยอายุ โรคประจำตัว ความเสี่ยงติดเชื้อหรือการเกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงมากกว่าคนอื่น 2. ลักษณะการท่องเที่ยวและการเดินทาง เพื่อประเมินความสี่ยงให้เหมาะสมกับแต่ละคน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทุกคนอยากท่องเที่ยว แต่ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น แม้โควิดจะเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) แต่การไม่ติดเชื้อจะดีที่สุด เพราะไม่มีใครอยากเสี่ยงอาการลองโควิด ทั้งนี้ คนไทยสามารถขอใบรับรองวัคซีนผ่านแอพพ์หมอพร้อม ซึ่งจะเป็นรูปแบบออนไลน์แต่ใช้ได้ทั้งในและนอกประเทศ เพราะผ่านการยืนยันตัวตนด้วยการกรอกข้อมูลในหมอพร้อมแล้ว

“ลักษณะการท่องเที่ยวตอนนี้เปลี่ยนไป จากที่เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ก็จะเริ่มกลุ่มเล็กและส่วนตัวมากขึ้น โดยข้อแนะนำคือ เมื่อกลับจากเที่ยวแล้วก็ควรตรวจหาเชื้อด้วย ATK ระหว่าง 3-5 วัน หรือเมื่อมีอาการ หรือตรวจด้วย RT-PCR” พญ.พิมพ์พรรณ กล่าว

พญ.พิมพ์พรรณ กล่าวต่อว่า การป้องกันสุขภาพของตนเอง ไม่ว่าจะการท่องเที่ยวต่างประเทศหรือใช้ชีวิตประจำวันในประเทศ ก็จะเหมือนกันคือ การป้องกันติดเชื้อ เลี่ยงการเข้าที่คนแออัด สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและล้างมือ โดยเฉพาะการติดเชื้อโควิดเมื่ออยู่ต่างประเทศ อาจส่งผลเรื่องการเดินทางกลับประเทศได้ รวมถึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ฉะนั้นประกันสุขภาพการเดินทางมีความจำเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ การดูแลตนเองหากติดเชื้อเมื่ออยู่ต่างประเทศ ต้องดูมาตรการกักตัวในแต่ละประเทศ อย่างเช่นไทยยังต้องกักตัว 10 วัน ก่อนออกเดินทางได้

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร ความรู้ด้านสุขภาพ ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่จะมาอัพเดตสถานการณ์สุขภาพให้ทุกท่านในทุกๆ วัน

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1180 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน