นักวิชาการ ชี้ “เนื้อไก่-ไข่ไก่” สุดยอดโปรตีนคุณภาพ แนะซื้ออย่างไรให้ปลอดเชื้อฯ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1650 ครั้ง

นักวิชาการจุฬาฯ แนะ เนื้อไก่ แหล่งโปรตีนสมบูรณ์ ช่วยสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันและสารภูมิคุ้มกันต่างๆ ป้องกันเชื้อโรคจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ร่างกาย ชี้บริโภคโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสม ส่งผลดีต่อสุขภาพของคนทุกวัย แนะวิธีเลือกซื้ออย่างไรให้ปลอดเชื้อฯ เน้นเลือกจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ และปรุงสุกทุกครั้ง เพื่อสุขอนามัยและความปลอดภัย ด้านนักวิชาการ ม.เชียงใหม่ ย้ำไข่ไก่เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอาหาร มีประโยชน์ต่อการทำงานของระบบสมอง ช่วยให้มีสมาธิ ป้องกันอัลไซเมอร์ เผยเคล็ดลับรักษาคุณภาพไข่ให้คงความสด

รศ.ดร.กิติพงศ์ อัศตรกุล ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สุขภาพที่ดีต้องเริ่มจากการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันต้องดูแลสภาพจิตใจควบคู่ไปด้วย เพื่อให้แข็งแรงทั้งกายและใจ มีภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ เมื่อพูดถึงโภชนาการอาหารที่ดี โปรตีน เป็นสารอาหารหลักที่สำคัญต่อร่างกายของคนที่ขาดไม่ได้ โดยโปรตีนประกอบด้วยหน่วยย่อยที่เรียกว่า “กรดอะมิโน” ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ กรดอะมิโนจำเป็น หรือ essential amino acid (กรดอะมิโนที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ได้เองและต้องได้รับจากการบริโภคอาหาร) และกรดอะมิโนไม่จำเป็น หรือ non essential amino acid (กรดอะมิโนที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เอง) ซึ่งโปรตีนเป็นสารที่สำคัญต่อร่างกาย เพราะเป็นองค์ประกอบของเซลล์ เนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อต่างๆ อาทิ เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ซึ่งช่วยให้กิจกรรมต่างๆ ของร่างกายดำเนินได้อย่างปกติ อย่างเช่น เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการย่อย รวมถึงเป็นส่วนประกอบของเส้นผมและผิวหนัง เป็นต้น ทั้งยังมีความสำคัญในด้านการสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันและสารภูมิคุ้มกันต่างๆ ที่ช่วยป้องกันเชื้อโรคจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น หากบริโภคโปรตีนในปริมาณที่ไม่เพียงพออาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน

“การบริโภคเนื้อไก่อย่างปลอดภัยและมั่นใจ ควรเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะร้านค้าหรือผู้ผลิตที่มีมาตรฐานการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ที่สำคัญต้องบริโภคเนื้อไก่ที่ปรุงสุกแล้ว หรือผ่านความร้อนอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาที เพื่อหลีกเลี่ยงจุลินทรีย์ก่อโรค เช่น แซลโมเนลลา (Salmonella spp.) เป็นแบคทีเรียที่สามารถก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ทำให้มีอาการท้องร่วงหรือการติดเชื้อในลำไส้ และหากอาหารที่ปรุงสุกแต่ทิ้งไว้นานเกิน 3 ชั่วโมง ควรนำไปอุ่นให้ร้อนอีกครั้งก่อนรับประทาน นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญเรื่องสุขลักษณะที่ดีในการปรุงอาหาร ทั้งการล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมอาหาร การเลือกวัตถุดิบที่สะอาดได้มาตรฐาน และการล้างมือสม่ำเสมอ ซึ่งสุขลักษณะในการเตรียมและการปรุงอาหารที่ดีเป็นส่วนสำคัญในการบริโภคอาหารอย่างปลอดภัย ห่างไกลโรค” รศ.ดร.กิติพงศ์ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ศศิธร ใบผ่อง หัวหน้าศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แหล่งโปรตีนคุณภาพดี นอกจากเนื้อไก่แล้ว ก็ยังมี “ไข่” ที่เป็นแหล่งอาหารที่มากคุณประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการอาหาร ทั้งยังหาซื้อได้ง่าย ราคาถูกเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่น แต่ให้ปริมาณโปรตีนทัดเทียมกัน และสามารถนำไปปรุงอาหารได้หลากหลาย เหมาะกับทุกเพศ ทุกวัย ไข่แต่ละฟอง (เทียบน้ำหนัก 50 กรัมต่อฟอง) จะให้โปรตีนประมาณ 6 กรัม ให้พลังงานเพียง 80 กิโลแคลอรี่ อุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และยังมีวิตามินและแร่ธาตุ โดยเฉพาะเลซิติน ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อระบบประสาทมนุษย์ นอกจากนี้ การรับประทานไข่ไก่ในผู้สูงอายุ จะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ทั้งยังช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามิน เกลือแร่ที่ร่างกายต้องการ ที่สำคัญไข่ไก่ยังมีประโยชน์ต่อการทำงานของระบบสมอง ซึ่งจะช่วยให้มีสมาธิ ช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ได้

“คนทั่วไปที่มีสุขภาพปกติสามารถบริโภคไข่วันละ 1 ฟอง ได้อย่างมั่นใจ แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และผู้ที่ต้องควบคุมอาหารที่มีไขมัน ควรปรึกษาแพทย์ในการบริโภคอย่างเหมาะสม ส่วนการเลือกซื้อไข่ที่ปลอดภัย ควรเลือกจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน มีกระบวนการที่ควบคุมและตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยสังเกตเปลือกไข่ที่มีผิวเรียบ แข็ง เปลือกต้องไม่บางหรือนิ่ม ไม่มีรอยแตกหรือยุบ ไม่เปื้อนสิ่งสกปรก บรรจุในภาชนะหรือถาดที่สะอาด สำหรับการเก็บรักษาไข่ ไม่ควรล้างไข่เพราะจะทำให้นวลไข่หลุด อาจใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดเช็ดเปลือกและใช้น้ำมันพืชทาเพื่อปิดรูพรุน และนำไปเก็บไว้ในอุณหภูมิประมาณ 5 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่า เพื่อรักษาคุณภาพไข่ให้คงความสด” ผศ.ดร.ศศิธร กล่าว

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ ได้ให้คำแนะนำแก่ผู้บริโภคในการเลือกเนื้อสัตว์ปลอดภัยว่า ควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มาจากแหล่งที่ได้คุณภาพมาตรฐาน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับ โดยสามารถเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์จากแหล่งจำหน่ายที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์มีสัญลักษณ์ตรา “ปศุสัตว์ OK” และหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่สุกๆ ดิบๆ ที่จะช่วยป้องกันแบคทีเรียแซลโมเนลลาได้ เนื่องจากเชื้อนี้ถูกทำลายได้โดยความร้อน เน้นย้ำการรับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงอาหารให้สุกโดยผ่านความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 นาที หมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร การแยกอาหารดิบออกจากอาหารปรุงสุก และการเก็บรักษาในตู้เย็นอย่างเหมาะสม ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อดังกล่าวได้ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบอาหารหรือบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและส่งออกอาหารควรให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาด และปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยในกระบวนการผลิตอย่างเคร่งครัด

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1650 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน