มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1666 ครั้ง
ผลสำเร็จที่ยั่งยืน : โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์”
ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2564 จำนวน 4 ฉบับ กำหนดให้ต้องมีการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยนักโทษเด็ดขาดทุกคน ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว และนักโทษเด็ดขาด ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ และจะพ้นโทษในคราวเดียวกัน ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษ จากเรือนจำออกไป อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทั่วประเทศในขณะนี้
กรมราชทัณฑ์ จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการพระราชทานโครงการ “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” เพื่อใช้เป็นหลักสูตรอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยแก่ผู้ต้องขังที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ด้วยการติดอาวุธทางปัญญา ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยประยุกต์เป็นเกษตรทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้านด้วยการ “ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา” เพื่อนำไปปรับใช้ในทุกเงื่อนไขของพื้นที่ มุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด หรือ Mindset ที่จะช่วยพัฒนาทักษะ ทัศนคติ มีความรักต่อตนเองและผู้อื่น มีความสามัคคี และช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้เป็นอย่างดี สามารถนำความรู้ และทักษะไปปรับใช้เพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว
ตลอดจนช่วยเหลือและแนะนำผู้อื่นที่เดือดร้อนได้ สำหรับรูปแบบการฝึกอบรมมีทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ เป็นระยะเวลา 14 วัน เพื่อนำไปลงมือปฏิบัติ และแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์จริง ผสานกับการเรียนรู้จากวิทยากร “ครูพาทำ” และผู้เชี่ยวชาญในด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่มาร่วมถ่ายทอดหลักการทำการเกษตรที่ถูกต้อง ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม นำไปปรับใช้ได้จริงในทุกสถานการณ์ ปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์ ได้นำแนวทางการฝึกอบรมตามโครงการพระราชทาน “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” มาเป็นหลักสูตรเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยให้กับผู้ต้องขังทุกกลุ่มในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ โดยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 – ปัจจุบัน จัดอบรมไปแล้วจำนวน 4 รุ่น 20 ครั้ง มีผู้ผ่านการฝึกอบรม รวมจำนวนทั้งสิ้น 185,959 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2565) และจากการติดตามผลสมาชิกผู้ผ่านการอบรม ที่ได้รับการปล่อยตัว และสามารถติดตามตัวได้ ระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2563 – 24 พฤษภาคม 2565 จำนวน 40,705 ราย พบว่า มีงานทำ คิดเป็นร้อยละ 57.47 โดยในจำนวนนี้สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม จำนวน 5,176 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2565)
ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ ได้เก็บสถิติข้อมูลการกระทำความผิดซ้ำของผู้ต้องขังในภาพรวม ย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณพ.ศ.2558 – 2562 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการฝึกการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตามโครงการพระราชทานฯ โดยได้ดำเนินการตรวจสอบจากเลขประจำตัวประชาชนผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวในปีงบประมาณนั้น ๆ และถูกส่งตัวกลับมาในเรือนจำอีก เนื่องจากได้การกระทำความผิดซ้ำ ในห้วงระยะเวลา 1 ปี ซึ่งสามารถสรุปอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวในภาพรวมตามช่วงปีงบประมาณดังกล่าวข้างต้นพบว่า ผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวและมีเลขประจำตัวประชาชน จำนวน 585,571 ราย กลับมากระทำผิดซ้ำ จำนวน 86,117 ราย คิดเป็น ร้อยละ 14.71 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ต้องขังที่ผ่านการอบรมโครงการพระราชทานฯ และมีเลขประจำตัวประชาชนซึ่งได้รับการปล่อยตัว ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2563 จำนวน 155,771 ราย กลับมากระทำผิดซ้ำภายในระยะเวลา 1 ปี เพียง 12,637 ราย คิดเป็น ร้อยละ 8.11 ซึ่งอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ผ่านการอบรมตามโครงการพระราชทานฯ น้อยกว่าผู้ต้องขังทั่วไปที่ไม่ผ่านการอบรมตามโครงการพระราชทานฯ อย่างเห็นได้ชัด
ผลสำเร็จที่ยั่งยืน : โครงการพระราชทาน โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์
นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ ยังได้พัฒนาแบบสำรวจสาเหตุการกระทำผิดซ้ำของผู้ผ่านการอบรมโครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” ขึ้นเพื่อให้สามารถทราบถึงสาเหตุ หรือปัจจัยที่ทำให้ผู้ที่เคยผ่านการอบรมโครงการพระราชทานฯ กลับมากระทำผิดซ้ำ โดยอ้างอิงจากแบบ Offender Assessment System (OASys) ของประเทศอังกฤษ และให้เรือนจำ/ทัณฑสถานสัมภาษณ์เก็บข้อมูลจากผู้ต้องขังแล้วบันทึกสาเหตุการกระทำผิดซ้ำ กำหนดให้ผู้ต้องขัง 1 ราย บันทึกข้อมูล ได้ 3 สาเหตุ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของการกระทำผิดซ้ำ คิดเป็นร้อยละ 36.52 คือ ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ที่อยู่อาศัยอยู่แหล่งสุ่มเสี่ยง ปัญหาการใช้ชีวิตและการคบค้าสมาคม ปัญหาการยอมรับจากสังคม ปัญหาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น
ภายหลังจากเสร็จสิ้นการฝึกอบรมตามโครงการพระราชทานฯ กรมราชทัณฑ์ ได้มีข้อสั่งการให้เรือนจำ/ทัณฑสถาน ทั่วประเทศ บำรุงรักษาแปลงสาธิตที่ใช้ในการฝึกอบรมฯ โดยให้บริหารจัดการผลผลิตที่เกิดขึ้นสำหรับจัดให้เป็นวัตถุดิบ ในการปรุงอาหารสำหรับผู้ต้องขัง จัดให้เป็นสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ นำไปจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายภายในพื้นที่ ในรูปแบบการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน อีกทั้งยังสามารถนำผลผลิตไปจัดจำหน่ายในราคาย่อมเยาเพื่อช่วยเหลือประชาชนในวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีกทั้งยังได้คัดเลือกเรือนจำ/ทัณฑสถาน ที่มีศักยภาพและความพร้อม เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้โครงการพระราชทานฯ เรือนจำต้นแบบโคก หนอง นา โมเดล ของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสร้างศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน ด้วยการสร้างเครือข่าย และดึงการมีส่วนร่วมจากภาคสังคมให้เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ ให้ได้รับโอกาสในการกลับตนเป็นคนดี โดยใช้หลักการพัฒนา “คน” ด้วย “แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเครื่องมือในการพัฒนาพฤตินิสัย
แผนการดำเนินงานในระยะต่อไป กรมราชทัณฑ์ จะขับเคลื่อนการดำเนินงานพระราชทานฯ โดยกำหนดให้เป็นหลักสูตรภาคบังคับในการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยของกรมราชทัณฑ์ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ต้องขังทุกประเภทการปล่อยตัวในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้โครงการพระราชทานฯ “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” ในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติตามแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการสร้างพื้นที่แห่งการแบ่งปันการช่วยเหลือเกื้อกูล โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ต้องขัง ผู้พ้นโทษ ญาติ ประชาชนทั่วไป และหน่วยงานเครือข่ายภายในพื้นที่ เป็นการสืบสานรักษา ต่อยอดแนวคิดการดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียง การบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า การพึ่งพาตนเอง และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1666 ครั้ง