มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 892 ครั้ง
“ราชทัณฑ์” พร้อมช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชา ในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัว-เปลี่ยนแปลงโทษ เตือนญาติผู้ต้องขัง อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพแอบอ้าง-หลอกลวงเพื่อช่วยเหลือคดี
วันนี้ (3 มิ.ย.65) นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และโฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 จึงส่งผลให้การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย เสพ หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งพืชกัญชา หรือการกระทำอื่นเกี่ยวกับพืชกัญชาก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2565 จะไม่มีความผิดอีกต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง
ซึ่งผลทางกฎหมายจากการที่พืชกัญชาไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดให้โทษ สามารถกล่าวโดยสรุปได้ ดังนี้ 1. ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีหรือจำเลยที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีจะพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด 2. ศาลไม่อาจขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในระหว่างสอบสวนหรือระหว่างการพิจารณาคดีได้ หรือหากคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง 3. คดีความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง และ 4.ไม่อาจนำคดีความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาซึ่งศาลเคยพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกจำเลยในคดีก่อนมาเป็นเหตุเพิ่มโทษบวกโทษได้
ทั้งนี้ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้แจ้งให้หน่วยงานในสังกัดฯ เตรียมความพร้อม โดยคดีความที่ต้องออกหมายปล่อยจะมีคำสั่งให้ทันในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ต้องขังให้ได้รับประโยชน์ตามกฎหมาย จึงให้เรือนจำและทัณฑสถานดำเนินการจัดส่งคำร้องของผู้ต้องขังที่กระทำความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาตามที่ได้สำรวจ ไปยังศาลที่ออกหมายจำคุกให้แก่ผู้ต้องขัง
สำหรับผู้ต้องขังที่กระทำความผิดเฉพาะคดีพืชกัญชาเพียงคดีเดียวให้ตรวจสอบแล้วส่งรายชื่อให้ศาลเพื่อออกหมายปล่อยตัวโดยเร็ว หรือขอให้กำหนดโทษใหม่ในกรณีศาลพิพากษารวมกับความผิดฐานอื่นด้วย โดยจากการสำรวจผู้ต้องขังคดีความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ มีจำนวนทั้งสิ้น 4,103 ราย แยกเป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี 884 ราย และนักโทษเด็ดขาด 3,219 ราย
นายธวัชชัย กล่าวต่อว่า ขอให้ญาติผู้ต้องขังอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพที่หลอกลวง เพื่อเรียกรับเงินในการช่วยเหลือผู้ต้องขังให้ได้รับการปล่อยตัว หรือให้ได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้น เนื่องจากกระบวนการปล่อยตัว การเปลี่ยนแปลงโทษ เรือนจำและทัณฑสถานจะช่วยเหลือผู้ต้องขังในการยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายปล่อย หรือขอให้กำหนดโทษใหม่ตามแต่กรณี ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล จำนวนคดี และลักษณะความผิดที่ได้กระทำ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่หากผู้ต้องขังหรือญาติผู้ต้องขังรายใด ต้องการสอบถามรายละเอียดการยื่นคำร้อง สามารถติดต่อได้ที่เรือนจำและทัณฑสถานที่ถูกควบคุมตัวอยู่ หรือศาลที่พิจารณาพิพากษาคดี โดยค้นหาช่องทางการติดต่อเรือนจำและทัณฑสถานได้ที่ Line Official Account กรมราชทัณฑ์ : @thaidoc
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 892 ครั้ง