ผบ.ทสส. ควง ผบ.ทร. ตรวจเยี่ยมการฝึกกองทัพเรือ-ศรชล. ประจำปี 2565

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1108 ครั้ง

ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตรวจเยี่ยมการฝึกและสังเกตการณ์การบูรณาการร่วมระหว่างการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 กับการฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล.ประจำปี 2565

วันนี้ (16 มิ.ย.65) พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เดินทางตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์การบูรณาการร่วมระหว่าง การฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 กับการฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. ประจำปี 2565 โดยมี พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. และ พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ รองผู้บัญชาการทหารเรือ (รอง ผบ.ทร.) ในฐานะผู้อำนวยการการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 ให้การต้อนรับ

จากนั้น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้แทนส่วนราชการใน ศรชล. ได้เดินทางมาถึงเรือหลวงอ่างทอง หลังจากนั้นได้เยี่ยมชมการฝึกขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันในทะเล (Oil Spill) และการฝึกค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล (Sea SAR) ร่วมกับหน่วยงานในศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมศูนย์บัญชาการในทะเล และโรงพยาบาลสนามบนเรือหลวงอ่างทอง

โดย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้โอวาทแก่กำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกภาคสนามภาคทะเลในการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2565 บนเรือหลวงอ่างทอง โดยมีใจความสำคัญ ดังนี้

“ผู้บังคับบัญชาและกำลังพลผู้เข้ารับการฝึกทุกนาย ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล ในการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2565 ซึ่งเป็นการฝึกการปฏิบัติการทางทะเลสาขาต่างๆ โดยบูรณาการกำลังจากหลายหน่วยงาน ทั้งส่วนราชการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หน่วยงานภาคพลเรือน ภาคประชาสังคม ซึ่งจะทำให้กำลังพลของหน่วยต่างๆ มีความรู้ความชำนาญ มีความเข้าใจในการปฏิบัติงานร่วมกัน โดยเฉพาะสถานการณ์การฝึกที่กำหนดขึ้นนั้น สอดคล้องกับปัญหาความมั่นคง สิ่งแวดล้อมทางทะเลที่เกิดขึ้นจริง และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นับว่าเป็นการเตรียมกำลังให้มีความพร้อมในการเผชิญสถานการณ์วิกฤตและภัยคุกคามในทุกรูปแบบ รวมทั้งภารกิจช่วยเหลือประชาชนโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ ผมขอขอบคุณและชื่นชมผู้บังคับบัญชากำลังพล ตลอดจนหน่วยงานทุกภาคส่วน และภาคเอกชน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฝึกทุกท่าน ที่ได้ทุ่มเทเสียสละร่วมมือร่วมใจอย่างเต็มความสามารถ เพื่อความสำเร็จและผลสัมฤทธิ์ของการฝึก ซึ่งจะทำให้มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจ ด้านความมั่นคงและช่วยเหลือประชาชน จากภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลจากการฝึกร่วมกันจะทำให้กำลังพลมีความมั่นใจในการปฏิบัติและยุทโธปกรณ์สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประชาชนมีความอุ่นใจว่าจะได้รับการบรรเทาภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์”

ต่อมา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะ เดินทางต่อไปยังเกาะเสม็ด โดยเรือระบายพลขนาดกลาง (Landing Craft Mechanized :LCM) เพื่อตรวจเยี่ยมการฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ ประกอบด้วย ชุดปฏิบัติการเคมี ชีวภาพและรังสี ณ ท่าเรืออ่าวกลาง ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์บนบก (Incident Command System :ICC) ณ สนามฟุตบอล อบจ. ระยอง

สำหรับการฝึกในปีนี้ กองทัพเรือ ได้กำหนดจัดให้มีการฝึกปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (HADR) และการฝึกขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันในทะเล (Oil Spill) ด้วยกำลังทางเรือตามแนวคิด From The Sea การค้นหา และช่วยชีวิตในพื้นที่การรบทางทะเล (Combat Sea SAR) โดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือและการระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดระยอง บริษัทเอกชน หน่วยกู้ภัย และสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน

ในปัจจุบัน ศรชล. นับเป็นหน่วยงานหลักและเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลและรับผิดชอบการดำเนินการที่มีเอกภาพ สามารถบูรณาการการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ในเขตทางทะเลที่มีลักษณะที่หลากหลาย และประเทศไทยมีอำนาจอธิปไตยหรือสิทธิอธิปไตย รวมทั้งสิทธิหน้าที่อื่นตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีจะต้องปฏิบัติตาม เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีอยู่อย่างมากมายในด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านทรัพยากร ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติทางทะเล มี นายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ผอ.ศรชล.)

โดยปัจจุบัน ศรชล. มีภารกิจหลักในการป้องกันภัย 9 ด้าน ประกอบด้วย 1. การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล 2. การทำประมงผิดกฎหมาย 3. การค้ามนุษย์/ลักลอบเข้าเมือง 4. ยาเสพติด/สินค้าผิดกฎหมาย/อาวุธสงคราม 5. การทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง 6. การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 7. โจรสลัด/การปล้นเรือ 8. การก่อการร้าย 9. การขนส่งสินค้าสองวัตถุประสงค์

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1108 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน