“เฉลิมชัย” มอบ “อลงกรณ์” เร่งขับเคลื่อน 18 มาตรการบริหารผลไม้ 5 แสนตัน

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1050 ครั้ง

“รัฐมนตรีเฉลิมชัย” มอบ “อลงกรณ์” นำทีม “ฟรุ้ทบอร์ด” ลงใต้เร่งขับเคลื่อน 18 มาตรการบริหารผลไม้ 5 แสนตัน พร้อมปรับกลยุทธ์ใหม่ ตั้งศูนย์บริหารจัดการผลไม้ส่วนหน้า

วันนี้ (25 มิ.ย.65) รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) มอบหมายให้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามงานด้านการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ 14 จังหวัด โดยมีการประชุมเฉพาะกิจติดตามสถานการณ์ต้นฤดูล่าสุดและความพร้อมของ 18 มาตรการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ปี 2565 ณ ห้องประชุมสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช และผ่านระบบออนไลน์ ZOOM cloud meeting เมื่อ 24 เม.ย.

มีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นางเรืองอุไร บุญช่วยชูพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และหัวหน้าหน่วยราชการ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ นายอรุณชัย พุทธเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอุดมเกียรติ เกิดสม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา นายภูวเดช วุฒิวงศ์วัฒ เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช นางเอกอนงค์ บัวมาศ พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช นายชวิศร์ สวัสดิสาร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช ผู้แทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้แทนเกษตรกรแปลงใหญ่ ผู้แทนสภาเกษตรกร เครือข่ายชาวสวนมังคุดภาคใต้ ผู้แทนผู้ประกอบการล้งผลไม้ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยที่ประชุมรับทราบ (1) รายงานสถานการณ์การผลิต-การขนส่ง และปัญหาอุปสรรคของผลไม้ภาคใต้ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกองปี 2565 โดย ประธานคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจากข้อมูลการรายงาน ผลผลิตทุเรียนภาคใต้ ปี 65 มีปริมาณ 465,959 ตัน ลดลง 19.19 % (จากปี 64 มีปริมาณผลผลิต 576,594 ตัน )มังคุดภาคใต้ ปี 65 มีปริมาณ 59,659 ตัน ลดลง 63.28 % (จากปี 64 ปริมาณ 162,477 ตัน) เงาะภาคใต้ ปี 65 มีปริมาณ 41,858 ตัน ลดลง 36.47 % (จากปี 64 ปริมาณ 65,882 ตัน) และลองกองภาคใต้ ปี 65 มีปริมาณ 6,550 ตัน ลดลง 81.90 % (จากปี 64 ปริมาณ 36,181 ตัน) (2) รายงานผลการบูรณาการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ปี 2565 โดย สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ภาพรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ได้เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และจะออกต่อเนื่องจนถึงเดือนธันวาคม 2565 โดยผลผลิตจะออกมากสุดช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2565 ซึ่งขณะนี้ ทุเรียน มังคุด เงาะ ส่วนใหญ่อยู่ระยะการเจริญเติบโตอยู่ในช่วงผลเล็ก โดยทุเรียน ออกดอกแล้ว ร้อยละ 64 เกษตรกรเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 มังคุด ออกดอกแล้ว ร้อยละ 30 เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกช่วงปลายเดือนเมษายน 2565 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนสิงหาคม 2565 เงาะ ออกดอกแล้ว ร้อยละ 54 เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้ช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 และลองกอง ออกดอกบ้างเล็กน้อยร้อยละ 13 ส่วนใหญ่อยู่ในระยะช่อดอก คาดว่าจะทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้ช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนกันยายน 2565

ทั้งนี้ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ทุกจังหวัดต้องพร้อมใช้ 18 มาตรการของ Fruit Board ที่อนุมัติทั้งโครงการและงบประมาณล่วงหน้ามาตั้งแต่ต้นปีเพื่อสนับสนุนหน้างานแต่ละจังหวัดสามารถบริหารจัดการทำงานเชิงรุกหรือแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วที่สุด รวมทั้งการบริหารเป้าหมายและกลยุทธ์ใหม่ เช่น นโยบายเพิ่มการบริโภคภายในประเทศลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ ขณะนี้มังคุดเริ่มออกมามีปัญหาการส่งออกจากกรณีล้งต้องรอ 2-3 วันกว่าจะบรรจุเต็มคอนเทนเนอร์ ล้งจึงลงมาน้อยทำให้ราคาแกว่งตัว ซึ่งในช่วงต้นฤดูกาลต้องเน้นตลาดในประเทศเป็นหลักก่อนไม่ใช่รอแต่จะส่งออกต้องปรับกลยุทธ์ตามสถานการณ์ ดังนั้นเพื่อให้การประสานแผนและกลยุทธ์ใน 14 จังหวัด

โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นฮับผลไม้ใต้ คือ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชและจังหวัดยะลามีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงให้ตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ส่วนหน้า” โดยมอบ นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรนำทีม ซึ่งเป็นกลไกใหม่มีหน้าที่ประสานการบริหารจัดการผลไม้ 14 จังหวัดภาคใต้ เช่นที่ใช้ในการบริหารผลไม้ภาคตะวันออกจนประสบความสำเร็จมาแล้ว สำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องมังคุด จะเร่งเปิดโครงการเกษตรกร Happy เพื่อเชื่อมโยงตลาดในประเทศ และกระจายมังคุดและผลไม้อื่นๆ จากเกษตรกรถึงผู้บริโภคทั่วประเทศให้มากที่สุดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์

ช่วงบ่าย นายอลงกรณ์ และคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมกระบวนการคัดบรรจุผลไม้ตามมาตรการ GMP Plus และมาตรการป้องกันการปนเปื้อนโควิด ส้มโอทับทิมสยาม มังคุด เงาะ ของบริษัท วินวิน เทรดดิ้ง กรุ๊ป จำกัด ต.ท้ายสำเภา อ.พระพรหม ซึ่งเป็นสินค้า GI ของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายประยูร เงินพรหม ประธานหอการค้าจังหวัด นายคมกฤต คลิ้งเชื้อ นายกอบต. และ นายสรรเพชญ์ ทันราย กำนัน ตำบลท้ายสำเภา ให้การต้อนรับและให้ข้อมูล จากนั้นจึงไปตรวจเยี่ยมล้งมังคุด ทุเรียน บริษัท หยกไทย จำกัด ต.ทอนหงส์ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1050 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน