มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1346 ครั้ง
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดคุกธนบุรี จัดกิจกรรมพิเศษเนื่องในงานรำลึกวันเนลสัน แมนเดลา “เรือนจำแห่งศิลป์ เสริมคุณค่าของชีวิตผ่านโครงการฟื้นฟูสังคมและกิจกรรมศิลปะ”

วันนี้ (18 ก.ค.65) ที่หอประชุมเรือนจำพิเศษธนบุรี กรุงเทพฯ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ นายจูเลียน การ์ซานี รองผู้แทนสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม ร่วมเปิดงานจัดกิจกรรมพิเศษเนื่องในงานรำลึกวันเนลสัน แมนเดลา “เรือนจำแห่งศิลป์ เสริมคุณค่าของชีวิตผ่านโครงการฟื้นฟูสังคมและกิจกรรมศิลปะ” โดยมี นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมงาน และมี นายสมภพ รุจจนเวท ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรี ร่วมบรรยายพิเศษเรื่อง เรือนจำพิเศษธนบุรี : แนวทางการขับเคลื่อนข้อกำหนดแมนเดลา ในบริบทของสังคมไทย พร้อมพาเยี่ยมชมกิจกรรมการฝึกวิชาชีพด้านศิลปะของผู้ต้องขังภายในเรือนจำอีกด้วย

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (United Nation Office on Drugs and Crime : UNODC) จัดกิจกรรมพิเศษ “เรือนจำแห่งศิลป์ เสริมคุณค่าของชีวิตผ่านโครงการฟื้นฟูสังคมและกิจกรรมศิลปะ” เนื่องในโอกาสวันเนลสันแมนเดลลาสากล 18 กรกฎาคม โดยมีเรือนจำพิเศษธนบุรี เป็นเรือนจำนำร่อง และเรือนจำต้นแบบที่มีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังสอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติ ดูแลผู้ต้องขังด้วยความเคารพตามหลักสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยความเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติเอื้อต่อการกลับไปใช้ชีวิตในสังคมภายหลังพ้นโทษ และช่วยลดปัญหา การกระทำผิดซ้ำ ตามหลักการพื้นฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักสิทธิมนุษยชน และการอนุวัติข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) หรือข้อกำหนดแมนเดลา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ต้องขังมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือสามารถอยู่ร่วมกับสังคมภายนอกได้อย่างปกติภายหลังพ้นโทษ

นายอายุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมราชทัณฑ์ จึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ ด้วยการปฏิบัติภารกิจด้านการควบคุม ควบคู่ไปพร้อมกับการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังในขณะใช้ชีวิตอยู่ภายในเรือนจำ โดยการนำกระบวนงานด้านสหวิชาชีพมาใช้ให้เหมาะสมเป็นรายบุคคล เพื่อให้เขาเหล่านี้ได้เห็นคุณค่าตนเองและมีกำลังใจในการพัฒนาตนเอง ศิลปะจึงเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟูผู้ต้องขัง ในการพัฒนาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทัศนคติ มุมมองในการดำเนินชีวิต ตลอดจนสามารถนำไปต่อยอดประกอบอาชีพสุจริตภายหลังพ้นโทษได้เป็นอย่างดี พร้อมนี้กรมราชทัณฑ์ ขอขอบคุณในความร่วมมือของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nation Office on Drugs and Crime : UNODC) คณะทูตประจำประเทศไทย และผู้แทนจากนานาประเทศ ที่ได้ร่วมงานในครั้งนี้ และหวังอย่างยิ่งว่า การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลต่อไป






มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1346 ครั้ง