มทร.สุวรรณภูมิ “ลุย” จับคู่ สปก. สร้างหลักสูตรร่วมสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1122 ครั้ง

วันนี้ (23 ก.ค.65) นายธีรพล ขุนเมือง อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทรส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับนโยบายสหกิจศึกษา เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้บริหาร มทรส. ประกอบด้วย คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี นายกสมาคมศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีการเกษตรฯ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เยี่ยมชม บริษัท ไผ่สิงห์ทอง จำกัด ตั้งอยู่ ตำบลนรสิงห์ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ซึ่งประกอบธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสุกร ไก่ไข่ และปลาจดทะเบียนในรูปแบบบริษัทในปี 2548 ด้วยทุนจดทะเบียน 220 ล้านบาท ปัจจุบันมีพื้นที่รวมกว่า1,300 ไร่ โดยเน้นขุนลูกหมูส่งจำหน่าย และมีโรงผลิตอาหารสัตว์ (สุกร) สำหรับใช้ในฟาร์มซึ่งพอเพียงต่อจำนวนสุกรทั้งหมด

ตลอดจนมีฟาร์มไก่ไข่ อีกทั้งขุดบ่อเลี้ยงปลาเบญจพรรณ(ปลานิล ปลาสวาย ปลายี่สก ปลาจีนฯลฯ)ระบบการจัดการของฟาร์มเป็นระบบปิด มาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีแม่พันธุ์สุกรกว่า 2,500 ตัว และลูกหมูขุนกว่า 50,000 ตัวส่วนฟาร์มไก่ไข่มีกว่า 400,000 ตัว ผลิตไข่ได้วันละกว่า 360,000 ฟอง มีระบบการเลี้ยงที่ทันสมัย จึงเห็นว่าเป็นสถานประกอบการ(สปก.)อีกแห่งหนึ่งที่เหมาะสมกับการส่งนักศึกษาฝึกปฏิบัติสหกิจ เพื่อได้เรียนรู้ชีวิตการทำงานจริงและเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเลี้ยงสัตว์ ทั้งการผสมเทียมสุกร การดูแลและอื่นๆ ประกอบกับบริษัท อยู่ไม่ห่างไกลจาก มทรส.โดยเฉพาะคณะเทคโนโลยีการเกษตรฯตั้งอยู่ในพื้นที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วย

นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า มทรส. มีนโยบายที่สำคัญและชัดเจน คือสร้างบัณฑิตที่เป็นคนดี มีความรู้ รักสู้งาน และก้าวสู่การเป็นมืออาชีพในแต่ละสาขาวิชา เน้นการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติตามความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีที่ครบถ้วน การจับคู่กับ สปก. จึงเน้นเฉพาะ สปก. ที่มีมาตรฐาน เพื่อให้นักศึกษา สามารถเรียนรู้การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามสาขาวิชาที่เรียน เมื่อจบแล้วสามารถทำงานได้ทันทีโดยจะมีการบันทึกข้อตกลงร่วมกันต่อไป โดยเชิญกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมด้วย เพื่อให้ สปก. ได้ใช้สิทธิประโยชน์จาก พรบ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะในการลดหย่อนภาษี ถึง 2 เท่า ของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แก่สถานประกอบการ ที่ใช้สำหรับการฝึกปฏิบัติ อาทิ ค่าตอบแทนรายวันหรือรายเดือน ค่าชุดฟอร์ม เป็นต้น

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1122 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน