มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1120 ครั้ง
ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ลงนามบันทึกความร่วมมือการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเล เพื่อพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินในทะเล โดยผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินทางทะเล จะได้รับการช่วยเหลือในเบื้องต้นอย่างทันท่วงทีและเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่กฎหมายกำหนด สอดคล้องกับหน้าที่ อำนาจ และความรับผิดชอบของ ศรชล.
วันนี้ (1 ส.ค.65) เวลา 14.30 น. พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ (เสธ.ทร.) ในฐานะเลขาธิการ ศรชล. และ เรืออากาศเอก อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเล ณ ห้องรับรอง ชั้น 2 อาคารกองบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน โดยมี พลเรือโท ประวิณ จิตตินันทน์ รอง เลขาธิการ ศรชล. พลอากาศตรี เฉลิมพร บุญสิริ กรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน นายไพรฑูรย์ รัตนพรวารีสกุล กรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน นาวาเอก พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รอง เลขาธิการ สพฉ. นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พลเรือโท สุพพัต ยุทธวงศ์ เจ้ากรมยุทธการทหารเรือเป็นผู้แทนกองทัพเรือ และผู้แทนต่าง ๆ จากหน่วยงานหลักของ ศรชล. รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของ สพฉ. เข้าร่วมพิธีการลงนามบันทึกความร่วมมือฯ ในวันนี้
พลเรือตรี อิทธิพัทธ์ กวินเฟื่องฟูกุล โฆษก ศรชล. กล่าวว่า ศรชล. เป็นหน่วยงานรูปแบบเฉพาะถูกจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 ได้บูรณาการหน่วยงานหลัก 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งเกิดจากกิจกรรมทางทะเลต่าง ๆ อาทิ การพาณิชยนาวี การประมง การท่องเที่ยว การแสวงประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล การวางสายเคเบิลหรือท่อใต้ทะเล การอนุรักษ์ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลบริเวณชายฝั่ง การสำรวจและวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล รวมถึงการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางทะเล
โดยกิจกรรมทางทะเลดังกล่าว อาจมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง เช่น ผู้ปฎิบัติงานกลางทะเลประสบอุบัติเหตุ นักท่องเที่ยวเกิดอาการเจ็บป่วยกำเริบ หรือการเกิดภัยธรรมชาติขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนในทะเล ซึ่ง ศรชล. จะต้องเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เข้าไปช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินในทะเล เพื่อให้การช่วยเหลือทางการแพทย์ในเบื้องต้น รวมถึงการส่งต่อทางการแพทย์อย่างทันท่วงที จนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
การลงนามความร่วมมือการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเล จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฉุกเฉิน และบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ศรชล. และ สพฉ. ซึ่งจะร่วมมือกันดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติการฉุกเฉิน การคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งให้เกิดความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ผู้ปฏิบัติงาน ผู้โดยสารในยานพาหนะ ผู้ป่วยฉุกเฉินที่เจ็บป่วย หรือได้รับอุบัติเหตุทางทะเล หรือจำเป็นต้องใช้ระบบการลำเลียงหรือขนส่งทางทะเล ให้ได้รับการบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ดีมีคุณภาพ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งกำหนดขั้นตอนสนับสนุนการปฏิบัติการแพทย์ การปฏิบัติการอำนวยการความร่วมมือตามอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบในการดำเนินการ ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด และสอดคล้องกับหน้าที่ อำนาจ ความรับผิดชอบของ ศรชล.
“ศรชล.ทุกนายมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความรัก ความสามัคคี ความวิริยะอุตสาหะ ด้วยสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด เพื่อผลประโยชน์ทางทะเลแก่ประชาชน และประเทศชาติอย่างเต็มเปี่ยม”
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1120 ครั้ง