เกษตรกรทวงถาม แนวทางผลิตกุ้ง 4 แสนตันอยู่ที่ไหน? วาระซ่อนเร้น! รัฐให้กุ้งนอกสวมแบรนด์ไทย

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 768 ครั้ง

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นร้อนในวงการกุ้ง หนีไม่พ้นข่าวการนำเข้ากุ้งเอกวาดอร์และอินเดีย หลังจากสื่อนอกปูดข้อมูลจากทางการเอกวาดอร์ จนกรมประมงต้องยอมรับว่า ได้อนุญาตให้มีการนำเข้ามาเพื่อแปรรูปและส่งออก มานานกว่า 5 เดือน กระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ต้องออกมาให้ข่าวดูแลเรื่องนี้ไม่ให้กระทบเกษตรกร ล่าสุดรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เร่งออกข่าวโต้ในวันหยุด ซึ่งผิดวิสัย ยิ่งสร้างความฉงนสนเท่ห์แก่เกษตรกร

หากไม่มีอะไรในกอไผ่ มีหรือจะดาหน้ามาเป็นทีมแบบนี้ หรือจะจริงอย่างที่เกษตรกรภาคใต้บอกมาว่า การปล่อยให้นำเข้ากุ้งมาโดยที่ไม่มีใครรู้ อาจเป็นต้นเหตุสำคัญของราคากุ้งปากบ่อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ช่วงต้นปีเกษตรกรยังใจชื้นว่าราคาพออยู่ได้ในวิกฤติต้นทุนสูงเช่นนี้ และตอนนี้ราคากุ้งบางพื้นที่เริ่มตกแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งกุ้งไซส์เล็กและไซส์กลาง ไหนรัฐสัญญาว่าจะไม่มีทางทำราคากุ้งตกต่ำ แต่วันนี้ผลกระทบมาถึงเกษตรกรแล้ว

ภาครัฐอาจลืมหน้าที่สำคัญ ที่ต้องสนับสนุนการผลิตของเกษตรกร เพื่อให้สามารถเลี้ยงคนในประเทศและส่งเสริมให้สามารถส่งออกเพื่อนำเงินตราเข้าประเทศได้ จึงกลับมีนโยบายสลับขั้วด้วยการนำเข้ากุ้ง โดยเล็งเห็นประโยชน์ของคนกลุ่มเดียว แต่กลับทำร้ายเกษตรกร แทนที่จะมาเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหา ทุ่มเทสรรพกำลังให้คนเลี้ยงกุ้งสามารถผลิตกุ้งคุณภาพ ด้วยประสิทธิภาพสูง และได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เพื่อไต่ระดับการผลิตให้ไปสู่เป้าที่ตั้งไว้ที่ปริมาณกุ้ง 4 แสนตัน ภายในปีหน้าให้ได้ แต่วันนี้ตัวเลขการผลิต 2.5 แสนตัน มันช่างไกลกว่าเป้าที่ตั้งไว้มาก

ถึงตอนนี้คนเลี้ยงที่มีบ่อพร้อม กำลังคนพร้อม กลับไม่มีกำลังใจจะเลี้ยง เพราะมองไม่เห็นอนาคต และยังหวั่นปัญหาโรคจะรุมเร้าอีก ด้วยมองไม่เห็นแนวทางการป้องกันโรค หรือหากเลี้ยงไปแล้วก็ยังเสี่ยงขาดทุน ไหนจะราคากุ้งที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะหล่นลงเมื่อไหร่ ยิ่งมีกุ้งเอกวาดอร์ กุ้งอินเดีย เข้ามาอีก ต่อไปเกษตรกรก็ไม่อยากลงเลี้ยงกุ้งแล้ว เพราะไม่มีตลาดรองรับ

หรือแม้แต่การที่รัฐบอกว่าดูแลเกษตรกรด้วยการประกันราคาซื้อ-ขายขั้นต่ำ ซึ่งอันที่จริงแล้วคนทำมาหากินเขาก็ต้องการขายสินค้าได้ราคาพอมีกำไรเพื่อให้อยู่ได้ นี่เล่นหักคอบอกจะรับซื้อในราคาขั้นต่ำ แล้วเกษตรกรจะทนเลี้ยงกุ้งไปเพื่ออะไร ในเมื่อไม่มีทางได้กำไรจากอาชีพนี้ ยิ่งบางคนมองไปถึงผลลัพธ์ข้างหน้าที่ราคากุ้งมีสิทธิ์ตกต่ำอีกแน่ ก็จำเป็นต้องถอยทัพเพราะรู้ว่าเลี้ยงไปก็ไม่รอด แบบนี้แล้วเป้า 4 แสนตัน ย่อมไม่มีทางไปถึง

แม้รัฐบอกว่ามีนโยบายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งที่ว่ามีการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดกุ้ง การปรับปรุงพันธุ์กุ้ง สร้างนวัตกรรมการเลี้ยง จัดหาแหล่งเงินทุน หาช่องทางการตลาดเพิ่มเติมเพื่อรองรับผลผลิตกุ้งทะเลที่เพิ่มขึ้นนั้น “ไม่มีอยู่จริง” เป็นเพียงนโยบายเท่ๆ ที่แขวนไว้ให้คนค้นหาในอินเตอร์เน็ตหรือเว็บกรมเท่านั้น ความเป็นรูปธรรม ความชัดเจน หรือแม้แต่มาตรการใดๆ ที่ออกมาสนับสนุนอย่างแท้จริงนั้น เกษตรกรยัง “มองไม่เห็น” ซึ่งสถาบันการเงินก็ “มองไม่เห็น” เช่นกัน ดังนั้นเมื่อรัฐไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ก็ไม่มีธนาคารใดปล่อยกู้ให้เกษตรกรเพื่อต่อยอดอาชีพเช่นกัน

อีกคำถามสำคัญคือ รัฐบาลไทยคิดอย่างไรกับกุ้งนอกที่มาสวมสิทธิ์เป็นแบรนด์ไทย? ทั้งที่กุ้งพวกนี้กำลังทำให้ภาพลักษณ์กุ้งไทยเสียหาย เพราะที่ผ่านมากุ้งไทยใช้วัตถุดิบในประเทศ ที่มีความปลอดภัยสูง ไร้สารตกค้าง และตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดกระบวนการผลิต ซึ่งถือเป็นจุดขายที่ทำให้ประเทศคู่ค้าเชื่อมั่นในมาตรฐานสินค้ากุ้งไทยมาตลอด การให้กรมประมงเปิดนำเข้าทั้งกุ้งเอกวาดอร์และกุ้งอินเดีย เข้ามาใช้แปรรูปเพื่อการส่งออกแล้ว ย่อมกระทบความเชื่อมั่นแน่นอน

ที่สำคัญกุ้งเอกวาดอร์ก็มีประวัติว่าถูกไทยแบนจากปัญหาโรค WSSV และไวรัส IHHNV ส่วนอินเดียวมีประวัติ ว่าทั้ง  สหรัฐ อียู และญี่ปุ่น ปฏิเสธกุ้งอินเดียหลังตรวจพบสารตกค้างยาปฏิชีวนะในกุ้งเพาะเลี้ยงนำเข้า นั่นเท่ากับไทยใช้กุ้งต่างชาติที่มีประวัติเรื่องโรคมาเป็นวัตถุดิบแทน จึงขัดแย้งกับภาพลักษณ์ที่รัฐบาลตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญหรือ “ครัวของโลก” ที่ยึดหลัก อาหารปลอดภัย (Safety) ความมั่นคงทางอาหาร (Security) และความยั่งยืนยัน (Sustainability) ตามนโยบายที่ตั้งไว้แน่นอน

ที่สำคัญวัตถุดิบกุ้งของไทยเอง “ไม่ได้ขาดแคลน” จนต้องอาศัยกุ้งนอกมาเติมเต็ม เพียงแต่ในช่วงที่ปริมาณผลผลิตน้อยกว่าความต้องการ ผนวกกับการเปิดประเทศ ราคาในตลาดช่วงก่อนอาจจะสูงขึ้นไปบ้าง ตามปกติของกลไกตลาด แต่ไปกระทบกับต้นทุนการแปรรูปเพื่อส่งออก นี่หรือไม่ที่เป็นชนวนเหตุสำคัญนำไปสู่ข้ออ้างให้มีการนำเข้า ตามเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนดว่า การอนุญาตจะให้เฉพาะช่วงเวลาที่ผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอการแปรูปเท่านั้น

รัฐอย่านิ่งเฉยกับปัญหานี้ เกษตรกรต่างรอคอยคำตอบทั้งเรื่องนโยบายการฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งที่เป็นรูปธรรม สู่เป้าหมายการผลิตกุ้ง 4 แสนตัน เพื่อทวงแชมป์กุ้งโลกคืน และทางออกของรัฐบาลด้วยการนำเข้ากุ้ง อย่างที่ทำอยู่นี้ เป็นสิ่งที่ยั่งยืนแล้วหรือ? เกษตรกรกำลังรอดูท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อนโยบายที่ปล่อยให้กุ้งนอกมารีแพคเกจ แปะแบรนด์ไทยขายคนทั้งโลก เสี่ยงเสียชื่อและเสียหายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หรือจะรอให้วัวหายแล้วจึงล้อมคอก ตามประสาไทยแลนด์โอนลี่อย่างที่เคยทำมา

งานเขียนโดย วิภาวี บุตรสาร นักวิชาการด้านสัตว์น้ำ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 768 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน