มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 8822 ครั้ง
กรมพลศึกษา จับมือ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อวางแผนพัฒนาฟุตบอลไทยในระยะยาว ส่งเสริมการพัฒนาทักษะนักกีฬา ผู้ฝึกสอน และผู้ตัดสินกีฬาฟุตบอลไทยในระดับรากหญ้าสู่มาตรฐานสากล
วันนี้ (17 ส.ค.65) ที่สนามศุภชลาศรัย สนามกีฬาแห่งชาติ ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา และ นายยุทธนา หยิมการุณ อุปนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ฝ่ายจัดการแข่งขัน) ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือเพื่อวางแผนพัฒนาฟุตบอลไทยในระยะยาว ระหว่าง กรมพลศึกษา กับ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมี นายพัชระ ตั้งพานิช รองอธิบดีกรมพลศึกษา และ นายพาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมฯ ร่วมลงนามเป็นสักขีพยานในครั้งนี้ด้วย โดย นายสุธน วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรการพลศึกษาและการกีฬา กล่าวรายงาน พร้อมด้วยข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ กรมพลศึกษาและสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ร่วมพิธี
ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา กล่าวว่า กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เห็นความสำคัญของกีฬาฟุตบอล ด้วยกีฬาฟุตบอลเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายว่าเป็นกีฬาที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในโลก มีส่วนสำคัญช่วยฝึกฝนผู้เล่นทั้งทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายและด้านจิตใจ ช่วยฝึกให้ผู้เล่นมีไหวพริบที่ชาญฉลาดและแก้ปัญหาอย่างฉับพลันได้ดี รู้จักอดทน อดกลั้น ยอมรับผู้อื่น ส่งเสริมให้เกิดความรักใคร่สามัคคีในหมู่คณะได้ จึงได้ร่วมมือกับเครือข่ายสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ร่วมขับเคลื่อนบูรณาการร่วมกันด้านกีฬาฟุตบอลเพื่อขยายสู่กลุ่มเป้าหมาย เด็ก เยาวชน ประชาชนทุกภาคส่วน มุ่งเป้าหมายร่วมกันยกระดับศักยภาพนักกีฬาฟุตบอลเด็กและเยาวชนคนไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนถึงร่วมกันพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสินกีฬาฟุตบอล
“จากความร่วมมือนี้ภารกิจเริ่มแรกที่เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว คือ กรมพลศึกษาได้มีการคัดเลือกโรงเรียนระดับประถมศึกษา ที่มีความพร้อมมีครูคอยให้การสอน มีนักกีฬาเข้าร่วมกิจกรรมเป็นไปตามเกณฑ์ที่ FIFA กำหนด รวมทั้งมีระบบสนับสนุน เพื่อส่งเข้าร่วมโครงการ FIFA for School แล้วจำนวนกว่า 60 โรงเรียนจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย” อธิบดีกรมพลศึกษา กล่าว
ด้าน นายยุทธนา หยิมการุณ อุปนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ฝ่ายจัดการแข่งขัน) กล่าวว่า สำหรับวัตถุประสงค์การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. เพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรกีฬาฟุตบอลให้ได้รับการเรียนรู้และฝึกสอนอย่างถูกต้อง เหมาะสม ในทุกภาคส่วน 2. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทักษะความสามารถด้านกีฬาฟุตบอลในระดับรากหญ้า ให้แก่ เด็ก เยาวชน ประชาชน และผู้ฝึกสอนกีฬาฟุตบอล 3. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และประโยชน์ด้านกีฬาฟุตบอลให้แก่ครอบครัวและชุมชน ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนากีฬาฟุตบอลมากยิ่งขึ้น 4. เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และสร้างมาตรฐานการพัฒนากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอลในระดับท้องถิ่น และ 5. เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลระดับพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง
นายยุทธนา กล่าวอีกว่า สำหรับขอบเขตความร่วมมือ มีดังนี้
1. การจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับเด็กและเยาวชน (Competition) การประสานความร่วมมือในการวางแผนกำหนดตารางการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระดับพื้นฐาน ของแต่ละฝ่ายร่วมกัน เพื่อลดความทับซ้อนของตารางการแข่งขันระหว่างกัน
2. การพัฒนาและฝึกอบรมผู้ฝึกสอนกีฬาฟุตบอล (Coach Education) อาทิ การบูรณาการหลักสูตรอบรมผู้ฝึกสอนระหว่าง สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และ กรมพลศึกษา ในหลักสูตรระดับ G-Diploma และรับรองมาตรฐานการพัฒนาผู้ฝึกสอนในระดับพื้นฐานร่วมกัน, การบูรณาการการพัฒนาวิทยากรผู้ฝึกสอนหลักสูตรระดับ G-Diploma
3. การพัฒนาและฝึกอบรมผู้ตัดสินกีฬาฟุตบอล (Referee) อาทิ การบูรณาการหลักสูตรอบรมผู้ตัดสินระหว่าง สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และ กรมพลศึกษาในหลักสูตรระดับขั้นพื้นฐาน และรับรองมาตรฐานการพัฒนาผู้ตัดสินในระดับพื้นฐานร่วมกัน และ การบูรณาการการพัฒนาวิทยากรผู้ตัดสินหลักสูตรระดับพื้นฐาน
4. การจัดกิจกรรมส่งเสริมฟุตบอลระดับพื้นฐาน (Grassroots) อาทิ การบูรณาการการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับด้านกีฬาฟุตบอลในระดับพื้นฐาน, การบูรณาการการสร้างเครือข่ายกีฬาฟุตบอลระดับพื้นฐานในท้องถิ่นและภูมิภาค
5. การบูรณาการฐานข้อมูลเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลระดับพื้นฐานและมวลชนร่วมกัน (Database) อาทิ การแบ่งปันระบบการจัดการและสถิติรายการแข่งขันกีฬาฟุตบอล, การแบ่งปันฐานข้อมูลและสถิติของนักกีฬาฟุตบอล, การแบ่งปันฐานข้อมูลและสถิติของผู้ฝึกสอนและบุคลากรกีฬาฟุตบอลระดับพื้นฐาน และ การแบ่งปันฐานข้อมูลด้านสนามและสิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอล
6. การส่งเสริมโครงการ FIFA for School อาทิ การร่วมมือกันจัดทำโครงการในฐานะ คณะกรรมการโครงการระดับชาติ (National Steering Group), การพัฒนาด้านกีฬาฟุตบอลให้แก่ครูพลศึกษาและนักเรียนจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ, การพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการแข่งขันและกิจกรรมกีฬาฟุตบอล, การเผยแพร่ข่าวสารผ่านเครือข่ายของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และกรมพลศึกษา, การรวบรวมข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลในประเทศไทยจากผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน และ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากรของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ กรมพลศึกษา และ หน่วยงานอื่น ๆ ในท้องถิ่นและภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 8822 ครั้ง