ศาลยุติธรรม จับมือ ป.ป.ส. พัฒนาระบบการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติด

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 728 ครั้ง

สนง.ศาลยุติธรรม ร่วมมือ ป.ป.ส. พัฒนาระบบการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดียาเสพติด และคดีความรุนแรงในครอบครัว ลดการกระทำผิดซ้ำ

วันนี้ (26 ส.ค.65) นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และ นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการดำเนินงานให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดียาเสพติดในระบบศาล ระหว่าง สำนักงานศาลยุติธรรม กับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) โดยมี นายภพ เอครพานิช รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และ นายธนากร คัยนันท์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 12 อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร

นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า สำนักงานศาลยุติธรรม และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้ร่วมกันพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติดและคดีความรุนแรงในครอบครัวในระบบศาล และดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดียาเสพติด เพื่อลดโอกาสสำหรับผู้กระทำผิดไม่ร้ายแรงที่อาจจะแปรสภาพเป็นอาชญากร ลดการกระทำผิดซ้ำ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมีเป้าหมายร่วมกันในการประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาล ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและสำเร็จลุล่วง รวมถึงเสริมสร้างภาพลักษณ์การดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมิตรกับประชาชนมากยิ่งขึ้น จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือดังกล่าว โดยกำหนดระยะเวลาความร่วมมือตั้งแต่วันที่ลงนาม จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2568

ในการประสานความร่วมมือในครั้งนี้ สำนักงานศาลยุติธรรม จะเป็นศูนย์กลางในการขยายผลการดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมไปยังศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาคดีอาญาและมีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการตามเกณฑ์การพิจารณาที่กำหนด ปรับปรุงและพัฒนาข้อกฎหมายเพื่อให้ศาลมีอำนาจในการจัดบริการคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดียาเสพติด หรือคดีที่มีโทษไม่ร้ายแรง รวมทั้งผู้เสียหายที่มีความจำเป็นต้องได้รับคำปรึกษาในระบบศาล ให้คำแนะนำ ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงาน และการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ ตลอดจนการเผยแพร่องค์ความรู้แก่ข้าราชการตุลาการ บุคลากร และผู้ให้คำปรึกษาในศาลที่ประสงค์จะดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม รวมทั้งพัฒนาระบบงานและข้อมูลเพื่อใช้ในการติดตามผลการดำเนินงาน โดยให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อตรวจสอบผลการกระทำผิดซ้ำ และเป็นหน่วยงานหลักในการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม

ทางด้าน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จะให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมของศาลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี สนับสนุนเอกสาร สื่อ ข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อใช้ประโยชน์ในการเผยแพร่ความรู้และเทคนิคในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ติดยาเสพติด รวมถึงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ตามแนวทางของสำนักงานศาลยุติธรรม ตลอดจนภาพรวมการดำเนินการ การเชื่อมต่อระบบข้อมูลการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน และมีส่วนร่วมในการวางกรอบแนวทางด้านการพัฒนาและการติดตามผลการดำเนินงานให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาล

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานศาลยุติธรรมได้มีการขยายผลการดำเนินงานให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมไปยังศาลชั้นต้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ถึงปัจจุบัน จำนวนทั้งสิ้น 102 ศาล โดยข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2565 พบว่า มีผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เข้ารับคำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาล จำนวนทั้งสิ้น 18,555 คน ในจำนวนนี้มีผู้ต้องหาหรือจำเลยที่กลับไปกระทำความผิดซ้ำ จำนวนทั้งสิ้น 141 คน คิดเป็นร้อยละ 0.76 ของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เข้ารับคำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาลทั้งหมด จึงเห็นได้ว่าการดำเนินงานให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาล สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้เข้ารับคำปรึกษาให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อป้องกันการหลบหนี การกระทำความผิดซ้ำหรือการก่อเหตุร้าย ลดทอนการเกิดอาชญากรรม และการสร้างภยันตรายต่อสังคม ทำให้ประชาชนในสังคมมีความปลอดภัยได้อย่างเป็นรูปธรรม

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 728 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน