มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1207 ครั้ง
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ นำระบบ E-Court และ Smart Court สำหรับผู้พิพากษามาใช้สนับสนุนการประชุมคดี และการพิจารณาพิพากษาคดี โดยองค์คณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
วันนี้ (1 ก.ย.65) เวลา 09.30 น. นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เป็นประธานในพิธีแถลงการเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศศาลชำนัญพิเศษ เพื่อนำข้อมูลคดีมาใช้สนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ โดยมี นายพงษ์รัตน์ เครือกลิ่น อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง นายอดิศักดิ์ ศรธนะรัชต์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง นายวรวุฒิ ทวาทศิน อธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง นางกีรติ ตั้งธรรม อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง นางวิรา ยากะจิ ณ พิกุล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง อธิบดีผู้พิพากษาศาลชำนัญพิเศษ นายมนตรี ศิลป์มหาบัณฑิต ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมพิธี ณ โถงหน้าห้องประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ชั้น 1 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคารเอ
นายบญุเขตร์ พุ่มทิพย์ รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ กล่าวว่า ในฐานะรองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แผนกคดีภาษีอากร ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการดูแลระบบสารสนเทศสำนวนคดี การนำระบบ E-Court มาใช้สนับสนุน การประชุมคดีและการพิจารณาพิพากษาคดีโดยองค์คณะและการนำระบบ Smart Court มาใช้ปฏิบัติงานในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
สืบเนื่องจากสำนักงานศาลยุติธรรม ได้กำหนดยุทธศาสตร์ ศาลยุติธรรม พ.ศ.2565-2568 ที่จะทำให้ศาลยุติธรรมสามารถอำนวยความยุติธรรม และปฏิบัติภารกิจตามที่กฎหมายกำหนดให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายใน และภายนอกองค์กรในทุกรูปแบบ ในยุทธศาสตร์ที่ 5 คือ ยุทธศาสตร์ T เปลี่ยนผ่านสู่อนาคต (Transformation) เพื่อพัฒนานวัตกรรมของศาลยุติธรรม เสริมสร้างการอำนวยความยุติธรรมของประชาชนที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัด และเป็นธรรม โดยประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ เพื่อสนับสนุนการทำงานอย่างครอบคลุมภารกิจหลักของหน่วยงาน ซึ่งก็คืองานพิจารณาพิพากษาคดี จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานดูแลระบบ สารสนเทศสำนวนคดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการได้ ดำเนินการศึกษา และพัฒนาการนำระบบมาใช้ในการปฏิบัติงานในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ในปัจจุบัน คณะทำงานได้ร่วมมือกับสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานศาลยุติธรรม พัฒนาโปรแกรมระบบสารสนเทศสำหรับผู้พิพากษา Judicial Information System หรือ JIS เพื่อให้บริการสำหรับผู้พิพากษาสามารถ สืบค้น ตรวจสอบ และติดตามข้อมูลคดีได้ทั่วประเทศ สามารถใช้งานได้ทั้งทางเครื่อง คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากศาลชำนัญพิเศษชั้นต้น ทั้ง 5 ศาล ได้แก่ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง, ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง, ศาลแรงงานกลาง, ศาลล้มละลายกลาง และศาลภาษีอากรกลาง ในการจัดเก็บข้อมูล และเอกสารในรูปแบบดิจิทัล เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลคดีระหว่างศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีชำนัญพิเศษ กับศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษอันเป็นการก้าวเข้าสู่ Smart Court ซึ่งเป็นนวัตกรรม ที่สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ศาลยุติธรรมนำไปสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรม ปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้น สร้างมาตรฐาน และระบบงานในการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น
ด้าน นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ กล่าวว่า มีความยินดี และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีแถลงการนำระบบสารสนเทศสำหรับผู้พิพากษามาใช้สนับสนุนการประชุม คดี และการพิจารณาพิพากษาคดีโดยองค์คณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งได้จัดเก็บข้อมูล และเอกสารในรูปแบบดิจิทัล อันเป็นการก้าวเข้าสู่ Smart Court โดยประสานความร่วมมือกับศาลชำนัญพิเศษในการเชื่อมต่อข้อมูลคดีระหว่างศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีชำนัญพิเศษ กับศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ในวันนี้
โดยศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เห็นว่าเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรม ยุทธศาสตร์ T เปลี่ยนผ่านสู่อนาคต (Transformation) ในด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอด ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นมาตรฐานมีความปลอดภัย สามารถรองรับการทำงาน รวมถึงการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนบูรณาการข้อมูลภายในหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพ และจะช่วยส่งเสริมให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษสอดคล้องกับบริบทของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเป้าหมายสูงสุดในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน
ทั้งนี้ ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พร้อมด้วยอธิบดีศาลทั้ง 5 ศาล ได้ร่วมทดสอบระบบในการรับ-ส่งสำนวนคดีด้วย ซึ่งระบบดังกล่าวจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 เป็นต้นไป
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1207 ครั้ง