มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 914 ครั้ง
PEA ลุยสร้างพลังงานทดแทนเพื่อวิสาหกิจชุมชน หวังต่อยอดบ้านไฮตาก จังหวัดเลย ยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์พลังงานและเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กน้ำสาน
นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มอบหมาย นายอุดมศักดิ์ เต็มวงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ กฟภ. พร้อมคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่บ้านไฮตาก จังหวัดเลย ยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์พลังงานและเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กน้ำสาน โดยมี นายวริษฐ์ รัชตเมธี ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและบำรุงรักษา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จังหวัดอุดรธานี และ นายสุรพล ทองเพ็ชร รองผู้จัดการด้านเทคนิค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเลย นำคณะเจ้าหน้าที่ และนายจันทรักษ์ อาจสมบาล ผู้ใหญ่บ้านไฮตาก ให้การต้อนรับ
PEA ลุยสร้างพลังงานทดแทนเพื่อวิสาหกิจชุมชน หวังต่อยอดบ้านไฮตาก จังหวัดเลย ยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์พลังงาน
ชุมชนบ้านไฮตาก ตำบลลาดค่าง อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ในช่วงก่อนหน้านี้ไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวมากนัก เพราะนอกจากจะเป็นหมู่บ้านที่อยู่บนภูเขาแล้วยังเป็นชุมชนเล็กๆ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำเรือกสวนไร่นาเพียงเท่านั้น จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA ได้มีการส่งเสริมพลังงานทดแทนเพื่อวิสาหกิจชุมชนให้แต่ละพื้นที่ให้เกิดความก้าวหน้า โดยชุมชนบ้านไฮตาก เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งใหม่ได้ PEA จึงมีการติดตั้งโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก ติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า หวังสร้างให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ในจังหวัดเลย และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์พลังงาน ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง รวมถึงการบริหารจัดการ ใช้ระบบพลังงานทดแทนที่เหมาะสม ส่งผลให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและยั่งยืน
PEA ให้บริการพลังงานไฟฟ้าและดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจทั้งด้านคุณภาพและบริการ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิต และสังคมอย่างยั่งยืน จึงดำเนินโครงการ PEA ส่งเสริมพลังงานทดแทนเพื่อวิสาหกิจชุมชน ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทยที่ต้องการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในแต่ละพื้นที่ให้เกิดความก้าวหน้า ซึ่งชุมชนบ้านไฮตาก ตำบลลาดค่าง อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย เป็นชุมชนที่มีจุดเด่นทางด้านภูมิศาสตร์ เนื่องจากตั้งอยู่บนภูเขาและมีศักยภาพในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด โดย PEA ได้ออกแบบและกำหนดแนวทางเพื่อนำเสนอกับองค์การบริหารส่วนตำบลถึงการเพิ่มศักยภาพ และพัฒนาส่งเสริมบ้านไฮตาก เป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของพื้นที่ และดำเนินโครงการสนับสนุนกิจการของวิสาหกิจชุมชนมุ่งเน้นการส่งเสริม สร้างการตระหนักรับรู้ และเป็นต้นแบบให้ชุมชนใช้พลังงานทดแทน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนรวมถึงยกระดับพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์พลังงาน
สำหรับชุมชนบ้านไฮตากที่ได้รับการคัดเลือกเป็นชุมชนสำคัญของ PEA ตามหลัก ISO26000 ทาง PEA จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง รวมถึงการบริหารจัดการใช้ระบบพลังงานทดแทนที่เหมาะสม ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ส่งผลให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีการส่งเสริมในด้านต่างๆ ดังนี้
• ติดตั้งโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก ขนาด 6 x 8.20 เมตร ให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งสามารถแปรรูปพืชผลทางการเกษตรได้ ครั้งละประมาณ 300 กิโลกรัมต่อรอบ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ผ่านนวัตกรรมการพัฒนาการแปรรูปผลผลิตที่ได้มาจากผลผลิตจากการทำเกษตรกรรมต่างๆ ทำให้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้เติบโตอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
• ติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar pump) ขนาด 3.7 กิโลวัตต์จำนวน 1 แห่ง และขนาด 1.5 กิโลวัตต์ จำนวน 1 แห่ง เพื่อการใช้พลังงานทดแทนของชุมชน และลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการประปาหมู่บ้านของวิสาหกิจชุมชน
• ติดตั้งและปรับปรุงกังหันลมผลิตไฟฟ้า ขนาด 400 วัตต์ ซึ่ง PEA ได้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างกังหันลมขนาดความสูง 12 เมตร เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน กังหันลมถูกออกแบบให้มี 2 ชั้นโดยชั้นที่ 1 ออกแบบให้มีพื้นที่ในการจัดนิทรรศการ และชั้นที่ 2 ออกแบบให้เป็นจุดชมวิว ซึ่งจะเห็นบรรยากาศของธรรมชาติที่สวยงาม และวิถีชีวิตของชุมชนบ้านไฮตากรวมทั้งติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ขนาด 3.0 kW เพื่อใช้ภายในศูนย์การเรียนรู้
จากการที่ PEA ได้มุ่งมั่นในการเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ในปีนี้จึงได้รับรางวัล Asia Responsible Enterprise Awards 2022 (AREA) สาขา Social Empowerment จากโครงการส่งเสริมพลังงานทดแทนพัฒนาความยั่งยืนเพื่อชุมชน (บ้านไฮตาก) โดย PEA ได้สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินกิจการของวิสาหกิจชุมชน พัฒนาคุณภาพและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ สร้างความมั่นคงในรายได้ พร้อมส่งเสริมกาตระหนักรับรู้ และเป็นต้นแบบการใช้งานพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดให้กับชุมชนและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นความตั้งใจในการทำงานของ PEA ที่ยึดมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนในด้านพลังงานทดแทน และด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยได้ใช้พลังงานอย่างยั่งยืนอีกด้วย
โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กน้ำสาน
น้ำ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการดำรงชีวิตที่สำคัญ ในขณะเดียวกัน น้ำก็นำมาแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นพลังงานที่สะอาด ปราศจากมลพิษและเกิดต่อเนื่องหมุนเวียนโดยไม่มีที่สิ้นสุด
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ทำการศึกษาและจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ภาคอีสาน โดยในปีพุทธศักราช 2543 ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กน้ำสาน อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย จำนวนเงิน 583 ล้านบาท เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้มีการขยายตัวของความต้องการใช้ไฟฟ้าและจำนวนหมู่บ้านที่เกิดขึ้นใหม่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งระยะทางของแนวสายส่งที่มีอยู่ มีระยะทางห่างไกลกันมากทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ขาดความมั่นคงในระบบจ่ายไฟ และเกิดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าสูงมาก
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้พิจารณาปริมาณน้ำในพื้นที่ดังกล่าวพบว่า ปริมาณการไหลของน้ำในลำน้ำสานที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงมีจำนวนมาก มีศักยภาพเพียงพอที่จะใช้ผลิตไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กน้ำสานจึงเกิดขึ้น โดยในส่วนของงานก่อสร้างมีงานรับผิดชอบหลักที่สำคัญคือ ฝายคอนกรีตสูง 4 เมตร สร้างขวางลำน้ำเพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้นแล้วไหลผ่านระบบน้ำเข้าสู่อุโมงค์ส่งน้ำต่อไป อุโมงค์ส่งน้ำเป็นอุโมงค์ที่มีลักษณะเป็นรูปเกือกม้า จะอยู่ใต้ระดับฝังดินตลอดแนว ด้วยความลึกจากผิวดินไม่น้อยกว่า 40 เมตร โดยลักษณะการก่อสร้างอุโมงค์เป็นการเปิดอุโมงค์สองด้านแล้วเจาะระเบิดเข้าหากันเพื่อทำหน้าที่ส่งน้ำผ่านไปยังท่อส่งน้ำแรงดัน นอกจากนี้ก็เป็นการก่อสร้างในส่วนอื่นที่เป็นการรองรับการผลิตกระแสไฟฟ้า ได้แก่ อาคารดักตะกอน ท่อส่งน้ำคอนกรีต อุโมงค์ปรับแรงดันซึ่งก่อสร้างโดยการระเบิดด้านบนลงสู่ด้านล่าง ท่อส่งน้ำแรงดัน อาคารโรงไฟฟ้า ท่อระบายน้ำจากอาคารและกำแพงกันดิน ในส่วนของงานติดตั้งนั้นจะเป็นการติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้ดำเนินการเอง ระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งน้ำสานนั้นจะเป็นลักษณะแบบฝายน้ำล้นเพื่อผันน้ำเข้าสู่อาคารรับน้ำแล้วผ่านไปยังบ่อดักตะกอนทราย ต่อจากนั้นไหลผ่านเข้าสู่ท่อส่งน้ำคอนกรีตและอุโมงค์ส่งน้ำ ไหลไปตามความลาดชันของพื้นที่ทำให้เกิดแรงดันของน้ำเข้าไปชนเครื่องกังหันน้ำกำเนิดไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งเข้าระบบจำหน่ายที่เชื่อมโยงไปยังสถานีไฟฟ้า ส่วนน้ำที่ผ่านออกมาหลังจากหมุนเครื่องกังหันน้ำกำเนิดไฟฟ้าแล้ว จะระบายออกกลับสู่ลำน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรกรรมและบริโภคได้โดยรักษาคุณภาพน้ำไว้เช่นเดิม
ข้อมูลทางด้านเทคนิคโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กน้ำสาน กำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ ขนาดฝายสูง 4 เมตร ยาว 54 เมตร พื้นที่รับน้ำเหนือฝาย 720 ตร.กม. ปริมาณน้ำที่ใช้ 8 ลบ.ม/วินาที ความต่างระดับน้ำระหว่างฝายกับอาคารโรงไฟฟ้า 95 เมตร ขนาดอุโมงค์ส่งน้ำ 2 เมตร 80 เซนติเมตร ความยาวอุโมงค์ 2,387 เมตร พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 22 ล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นปีละ 70 ล้านบาท ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กน้ำสานเดินเครื่องจ่ายไฟมาตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2552 สามารถลดการซื้อขายจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยประมาณ 630 ล้านบาท ซึ่งคืนทุนในระยะเวลา 9 ปี
การออกแบบก่อสร้างของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กน้ำสานได้พิจารณาให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด จึงได้พัฒนาการออกแบบจากการก่อสร้างตามไหล่เขามาเป็นแบบอุโมงค์ผันน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ เช่น ลดการเปิดหน้าดิน การตัดต้นไม้ ปัญหาการพังทลายของดิน นอกจากนี้ฝายที่สร้างเป็นฝายขนาดเล็ก น้ำสามารถไหลล้นข้ามฝายได้ทำให้ไม่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายของปลาและสัตว์น้ำ ซึ่งหลังจากการก่อสร้างเสร็จ ทางโครงการมีการจัดเก็บวัสดุเหลือทิ้งอย่างเป็นระบบ มีการดำเนินการปลูกป่าเหนือพื้นที่โครงการเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าและปรับปรุงทัศนียภาพบริเวณพื้นที่โครงการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
ด้วยความมุ่งมั่นของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการให้บริการแก่ประชาชน ทำให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอภูเรือ และอำเภอใกล้เคียงสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น สร้างความเจริญและรายได้ให้แก่ชุมชน ลดการนำเข้าเชื้อเพลิง ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม และช่วยลดสภาวะโลกร้อนด้วย
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตระหนักถึงภาระหน้าที่จึงก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งในการนำแสงสว่างไปสู่คนไทยเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศต่อไป
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 914 ครั้ง