“อธิบดีกรมคุก” ดำเนินคดี “หมิ่นประมาท” อ้างคุกมี VIP ใช้โทรศัพท์ในเรือนจำ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1250 ครั้ง

ราชทัณฑ์ เดินหน้าดำเนินคดี ผู้กล่าวอ้างกรณีมีคุก VIP และการใช้โทรศัพท์ภายในเรือนจำ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อประชาชนภายนอก

วันนี้ (2 ก.ย.65) นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยกรณี ที่หนึ่งในผู้ดำเนินรายการ แฉ ทางสถานีโทรทัศน์ GMM 25 ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 เวลาประมาณ 21.00 น. ได้มีการกล่าวพาดพิงถึงกรมราชทัณฑ์ เกี่ยวกับการควบคุมดูแลผู้ต้องขังคดี Forex-3D ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมราชทัณฑ์ ว่ามีสภาพความเป็นอยู่ที่สุขสบายและสามารถใช้โทรศัพท์ภายในเรือนจำได้ นั้น

กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการควบคุมดูแล และการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังภายในเรือนจำ ซึ่งแนวทางและนโยบายของกรมราชทัณฑ์ในปัจจุบันยังคงถือระเบียบปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มิได้ให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งตามที่สังคมเข้าใจแต่อย่างใด รวมถึงการใช้เครื่องมือสื่อสาร กรมราชทัณฑ์ ขอยืนยันว่า ไม่มีการให้ผู้ต้องขังคนใดมีเครื่องมือสื่อสาร หรือโทรศัพท์มือถือไว้ใช้ภายในเรือนจำอย่างแน่นอน โดยกรมราชทัณฑ์มีมาตรการเข้มงวดในเรื่องของการจู่โจมตรวจค้นอย่างจริงจัง รวมถึงมีบทลงโทษที่ชัดเจนกับผู้กระทำผิด อีกทั้งการกล่าวอ้างว่ามีผู้ต้องขังบางรายได้รับสิทธิพิเศษได้อยู่อย่างสุขสบายเหนือกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ๆ นั้น ขอเรียนว่า ผู้ต้องขังทุกคนได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม เสมอภาค ตามหลักสิทธิมนุษยชน จึงขอให้พี่น้องประชาชนอย่าได้หลงเชื่อคำกล่าวอ้าง หรือคำบอกเล่าที่ไม่เป็นความจริง

ส่วนในกรณีของ พิงกี้ หรือ น.ส.สาวิกา ไชยเดช ที่ถูกควบคุมอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางนั้น ขณะนี้ได้ย้ายจากแดนกันชนมาสู่แดนแรกรับแล้ว โดย น.ส.สาวิกา ได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางทัณฑสถานฯ เช่นเดียวกับผู้ต้องขังรายอื่น ๆ และได้ดำเนินการตัดผมเรียบร้อยแล้ว

ส่วนนายอภิรักษ์ โกฎธิ ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครตามปกติ และไม่ได้มีสิทธิพิเศษเหนือผู้ต้องขังรายอื่น ๆ รวมถึงไม่ได้มีเครื่องมือสื่อสารหรือโทรศัพท์ใช้ภายในเรือนจำแต่อย่างใด

นายอายุตม์ กล่าวปิดท้ายว่า ในกรณีดังกล่าวเป็นการกล่าวพาดพิงและหมิ่นประมาทกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นการนำข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยมีการเผยแพร่เป็นแบบสาธารณะทำให้ประชาชนทั่วไปที่ได้รับฟังข่าวสารเกิดความเข้าใจผิด และสงสัยในการทำงานของกรมราชทัณฑ์ อันเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกรมราชทัณฑ์จะดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1250 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน