ผลวิจัยชี้ “3 แนวทางส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง” จาก Mobility data หนุนยุทธศาสตร์เที่ยวไทยเติบโตยั่งยืน

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 720 ครั้ง

ดีแทค-สดช.-สถาปัตย์ จุฬาฯ-บุญมีแล็บ ผนึกกำลังวิจัย “ศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองจาก Mobility data” เผย 3 แนวทางสำคัญส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองในประเทศ ได้แก่ 1. การดึงดูดการท่องเที่ยวระยะใกล้หรือ Micro-tourism 2. การส่งเสริมการค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ และ 3. การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด  นักวิชาการชี้ที่ผ่านมาท่องเที่ยวไทย “ขาดสมดุล” หนุนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวเมืองรองสร้างท่องเที่ยวไทยให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของข้อมูลที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลและเปลี่ยนผ่านโครงสร้างประเทศสู่ Digital Nation ข้อมูลที่เรียลไทม์จะช่วยให้ภาครัฐสามารถบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การบริหารจัดการน้ำ การรับมือกับภัยพิบัติ เป็นต้น เพื่อประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า โครงการวิจัยศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองจาก Mobility data นี้ เป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชนในการนำร่องใช้ Mobility data เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยโจทย์ของการวิจัยในครั้งนี้ มุ่งเน้นที่ ‘การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว’ หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี โดยที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการออกแบบนโยบายมีประสิทธิภาพมากขึ้น “ข้อมูล” เชิงพฤติกรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ Mobility data ที่มีข้อได้เปรียบและศักยภาพมหาศาล โดยเฉพาะความสามารถในการประเมินสถานการณ์การเดินทางและการกระจุกตัวของผู้คนได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และสามารถวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นที่ได้หลากหลายระดับ

“ภาคส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวควรใช้วิกฤตนี้ในการ ‘รีเซ็ต’ เพื่อทำความเข้าใจและสร้างสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวในประเทศและระหว่างประเทศ สนับสนุนการเติบโตซึ่งกันและกัน นำมาสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เข้มแข็งและยั่งยืน” นายชารัด กล่าว

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้ว่าการท่องเที่ยวจะเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่เพียงในบางจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก การระบาดของโรคโควิด-19 ยังสร้างผลกระทบต่อภาคการค้าการบริการและการท่องเที่ยวในประเทศเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ความต้องการเดินทางท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศกำลังเพิ่มปริมาณมากขึ้นจากการลดลงของโรคระบาด จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะสร้าง “สมดุล” ระหว่างการกระจายนักท่องเที่ยวและผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจไปสู่จังหวัดที่เป็นเมืองรองด้านการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนสามารถกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นและชุมชนได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จากการวิจัยโดยใช้ข้อมูลการเคลื่อนที่หรือ Mobility data ระหว่างเดือนมิถุนายน 2563 ถึงตุลาคม 2564* พบว่า ผู้เดินทางในภาพรวม เป็นเพศชายราว 40% เพศหญิงราว 35% และไม่ได้ระบุเพศ 25% โดยส่วนใหญ่มีถิ่นพำนักในกรุงเทพฯ ถึง 54% ทั้งนี้ นักเดินทางท่องเที่ยว 47% มีอายุระหว่าง 21-40 ปีหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ตามด้วยวัยกลางคน (41-60 ปี) มีสัดส่วนที่ 35% วัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 14% และวัยเด็กและเยาวชน (ต่ำกว่า 20 ปี) ที่ 4% นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงลักษณะนักท่องเที่ยวในช่วงการระบาดโควิด-19 พบว่ามีลักษณะเป็นการเดินทางแบบพักค้างถึง 67% และการเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับ 33%

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการวิเคราะห์ Mobility data สามารถสรุป 3 แนวทางเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองได้ดังนี้

1. การส่งเสริม Micro tourism หรือการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับในระยะการเดินทางประมาณ 150 กิโลเมตร หรือใช้เวลาเดินทางราว 1-2 ชั่วโมง เพื่อมาร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้รวมถึงบริโภคสินค้าและบริการของท้องถิ่น  ซึ่งมีแนวโน้มเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งในกลุ่มครอบครัว กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มวัยเกษียณอายุ  การพัฒนาการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ทำได้โดยการผลักดันให้เกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยร่วมกันพัฒนากิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตผลผลิตและสินค้าของท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ เปิดโอกาสให้เกิดการบริโภคสินค้าและบริการที่เกิดจากทรัพยากรในพื้นที่ และสร้างรายได้เสริมจากท่องเที่ยวให้กับเกษตรกรและผู้ผลิต การดำเนินการมุ่งเน้นการใช้สถานที่และอุปกรณ์ที่เกษตรกรและผู้ประกอบการมีอยู่เดิมมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อลดต้นทุน ตัวอย่างเช่น เวิร์คชอปเรียนรู้การทำหัตถกรรมพื้นบ้าน การเที่ยวชมชุมชนเกษตรกรรมร่วมกับไกด์ท้องถิ่น การทดลองทำอาหารพื้นถิ่น การร่วมเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ศึกษาได้พัฒนาดัชนีชี้วัดศักยภาพของเมืองรองในพัฒนา Micro tourism จาก mobility data โดยใช้ 3 เกณฑ์ชี้วัด ได้แก่ 1. ปริมาณการเดินทางท่องเที่ยวแบบไปกลับที่เข้ามาในพื้นที่ 2. สัดส่วนการเดินทางท่องเที่ยวแบบไปกลับที่สามารถดึงดูดได้จากจังหวัดอื่นในระยะ 150 กม. และ 3. ความสามารถในการดึงดูดการท่องเที่ยวแบบไปกลับได้จากระยะไกล จะพบว่า จังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบ Micro tourism อย่างโดดเด่นมีจำนวน 16 จังหวัดประกอบด้วยจังหวัดนครศรีธรรมราช เชียงราย นครพนม ลำพูน นครนายก ระนอง เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี แม่ฮ่องสอน พัทลุง ราชบุรี นครสวรรค์ บุรีรัมย์ มหาสารคราม สุพรรณบุรี และชุมพรตามลำดับ

2. การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ (Experience-based overnight tourism) เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการกระจายผลลัพธ์เชิงบวกจากการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง เนื่องจากการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายและเวลาพำนักของนักท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวและเพิ่มโอกาสในการบริโภคสินค้าและบริการในท้องถิ่นเพื่อกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการและชุมชน   นอกจากนี้ ยังเป็นกลไกในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชนในช่วงระยะเวลาพักค้าง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถนำเสนอคุณค่าในด้านต่างๆ และออกแบบการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยวในกิจกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชน เช่น การเข้าร่วมเทศกาล การร่วมกิจกรรมบูรณะอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การร่วมปลูกและดูแลป่าชุมชน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมต่างถิ่น (Cultural Exchange) และการสร้างกลุ่มผู้สนับสนุน (fanbase) สำหรับสินค้าและบริการของท้องถิ่นในระยะยาว

ทั้งนี้ จากการวัดศักยภาพการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่โดย mobility data ผ่าน 3 ดัชนีชี้วัด ได้แก่ 1. ปริมาณการกระจุกตัวของการเดินทางท่องเที่ยวแบบค้างคืนในพื้นที่ 2. สัดส่วนการเดินทางท่องเที่ยวแบบค้างคืนที่สามารถดึงดูดได้จากจังหวัดอื่นในระยะ 150 เมตร และ 3. สัดส่วนการเลือกพักค้างของผู้มาเยือนในพื้นที่  พบว่ามี 21 จังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพสูงในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ได้แก่ นครศรีธรรมราช เพชรบูรณ์ เชียงราย อุบลราชธานี พิษณุโลก ชุมพร จันทบุรี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ เลย ตราด น่าน นครสวรรค์ อุดรธานี ลำปาง ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคราม สตูล ตรัง และชัยภูมิ ตามลำดับ

3. การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด (Tourism Cluster) เป็นแนวคิดการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างกลุ่มจังหวัดเมืองรองที่นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเดินทางไปเยือนในการเดินทางท่องเที่ยว 1 ทริป เพื่อเพิ่มทางเลือกในเป้าหมายการเดินทางท่องเที่ยวให้กับผู้มาเยือน ซึ่งจะช่วยเพิ่มทั้งแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนพื้นที่ เพิ่มการใช้เวลาในการท่องเที่ยวภายในประเทศ และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนและท้องถิ่นในจังหวัดเมืองรอง การพัฒนากิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างกลุ่มจังหวัดอาจดำเนินการได้โดยการสร้างเรื่องราว (Storytelling) เชื่อมโยงสถานที่และกิจกรรมการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด การจัดโปรโมชั่นส่วนลดที่พักและร้านอาหารในกลุ่มจังหวัด การพัฒนากิจกรรมเพื่อสะสมแต้มผ่านสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่สามารถใช้ในแต่ละกลุ่มจังหวัด เป็นต้น

ทั้งนี้ จากผลการวิเคราะห์ mobility data สามารถแบ่งประเภทของคลัสเตอร์ของการท่องเที่ยวที่จังหวัดเมืองรองเป็นสมาชิกได้เป็น 4 รูปแบบ ดังนี้ 1) กลุ่มเมืองรองแฝงเมืองหลัก เป็นกลุ่มที่มีจังหวัดเมืองรองร่วมอยู่ด้วย แต่สมาชิกในกลุ่มโดยส่วนใหญ่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กลุ่มจังหวัดบุรีรัมย์-นครราชสีมา-สระบุรี 2) กลุ่มเมืองรองล้อมเมืองหลัก เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกโดยส่วนใหญ่เป็นจังหวัดเมืองรองอยู่ร่วมกับจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กลุ่มจังหวัดนครสวรรค์-ชัยนาท-สิงห์บุรี-อ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา-ปทุมธานี 3) กลุ่มเพื่อนเมืองรอง เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีสมาชิกทั้งหมดเป็นจังหวัดเมืองรอง เช่น กลุ่มจังหวัดลำปาง-ตาก-กำแพงเพชร-นครสรรค์ และ 4) กลุ่มเมืองฝาแฝด เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกเพียง 2 จังหวัด โดยมีทั้งการจับคู่ระหว่างเมืองหลักกับเมืองรอง หรือระหว่างเมืองรองด้วยกันเอง เช่น จังหวัดปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรา

“ดีแทคเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า Mobility data จะช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเข้าใจรูปแบบการเดินทางและการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวได้อย่างบูรณาการ เติมเต็มและเพิ่มประสิทธิภาพของการวางแผนและการจัดทำนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวตั้งแต่ในระดับประเทศจนถึงท้องถิ่น นอกจากนั้นข้อมูลชุดนี้ยังจะช่วยเปลี่ยนโลกให้ดีและน่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยการนำเอาข้อมูล Mobility data ไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะและการแก้ไขปัญหาสังคม ภายใต้หลักจริยธรรมและการปกป้องความเป็นส่วนตัวอย่างเคร่งครัด ท่ามกลางความท้าทายของโลกที่เพิ่มขึ้นนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมโรคระบาด การย้ายถิ่นฐานแบบบังคับ ภาวะโลกร้อน การรับมือกับภัยธรรมชาติ เป็นต้น” นายชารัด กล่าว

สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลเชิงลึกและเบื้องหลังการทำงานเกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนี้ สามารถศึกษาเพิ่มเติมจากซีรีส์บทความได้ที่ https://www.dtac.co.th/mobility-data

*ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ในโครงการนี้ เป็นชุดข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้งานได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมภายใต้การกำกับและดูแลนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เข้มงวดของดีแทค

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 720 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน