มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 938 ครั้ง
ศรชล. เป็นแกนกลางฝึกซ้อมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทีมช่วยชีวิตลูกเรือโดยสารประสบภัยในทะเล “ฝึกเพื่อเตรียมพร้อม ซักซ้อมเพื่อช่วยชีวิต”
วันนี้ (14 ก.ย.65) พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะเลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (เลขาธิการ ศรชล.) มอบหมายให้ พลเรือโท ประวิณ จิตตินันทน์ รองเลขาธิการ ศรชล. เป็นประธานในพิธีปิดการฝึกซ้อมร่วมกับเรือโดยสาร กรณีเรือประสบภัย ประจำปี 2565 ภายใต้รหัสการฝึก “Passengers Ship Training 2022” และชมนิทรรศการการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล บนเรือ The Blue Dolphin ณ ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ – กองทัพเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีโดยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ ศรชล. และผู้แทนหน่วยร่วมฝึก ประกอบด้วย กองทัพเรือ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่า กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สคอ.) และบริษัท เดอะ ซีฮอร์ส จำกัด ร่วมให้การต้อนรับ
พลเรือตรี อิทธิพัทธ์ กวินเฟื่องฟูกุล โฆษก ศรชล. กล่าวว่า การฝึกช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางเรือ ภายใต้รหัส “Passengers Ship Training 2022” ครั้งนี้ มีหน่วยงานต่าง ๆ ในระบบการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลของประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมการฝึกซ้อม เพื่อร่วมกันสร้างกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพเมื่อต้องเผชิญเหตุและสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มุ่งเน้นการสร้างระบบการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ให้สามารถตอบโต้สถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีและลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งมีการฝึกซ้อมในหลายมิติทั้งการติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยปฏิบัติ การสั่งการประสานงาน ที่ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมที่ทันสมัยเข้ามาช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการช่วยเหลือและอพยพผู้ประสบภัยจากเรือโดยสารทางทะเลอย่างทันท่วงที เมื่อรับแจ้งเหตุแล้วหน่วยใดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ รูปแบบการส่งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ประการสำคัญการฝึกซ้อมอพยพผู้โดยสาร จะต้องดำเนินการอย่างมีมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าไม่มีผู้โดยสารคนใดตกค้างบนเรือ และทุกคนจะต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล เพื่อให้สามารถรองรับการตรวจประเมินประเทศสมาชิกจากองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566
ศรชล. ในฐานะหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลและเป็นแกนกลางในการบูรณาการขับเคลื่อนการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ตาม พรบ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. 2562 โดยมีนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ ศรชล. ที่มีนโยบายสำคัญในการให้ความช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัยทางทะเลให้กับพี่น้องประชาชน จะมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถและทุ่มเทร่วมแรงร่วมใจเพิ่มขีดความสามารถของทุกหน่วยงานในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและผู้ประกอบการเดินเรือโดยสารในทะเล ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 938 ครั้ง