มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 930 ครั้ง
เซเว่น ขยาย “ภาคีเครือข่ายโรงเรียนไร้ถัง” สู่เทศบาลนครภูเก็ต ขับเคลื่อนสังคม ชุมชนไร้ถังขยะ ผ่านกลุ่มโรงเรียนในสังกัดเทศบาลฯ และสพป.ภูเก็ตกว่า 17 โรงเรียน ก่อนยกระดับเป็นต้นแบบจัดการขยะอย่างยั่งยืนบนพื้นที่เกาะ
นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ลงนามความร่วมมือภาคีเครือข่ายโรงเรียนไร้ถัง ร่วมกับ นายตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา รองผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดยมีตัวแทนกลุ่มโรงเรียนในสังกัดเทศบาล 7 โรงเรียน พร้อมกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต เป็นการนำร่องอีก 10 โรงเรียน เข้าร่วมเป็นสมาชิก “ภาคีเครือข่ายโรงเรียนไร้ถัง” เพื่อร่วมกับองค์กรภาคเอกชนกว่า 10 แห่ง ปลูกฝังให้เกิดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางให้กับเยาวชนและชุมชน เพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม ณ เทศบาลนครภูเก็ต
นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า ปัญหาขยะที่มาจากการอุปโภค บริโภคของประชาชนทั้งที่อยู่ในท้องถิ่น และขยะที่มากับภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ที่ต้องรองรับและแก้ปัญหาด้วยทรัพยากรคนและงบประมาณอย่างมหาศาล การที่จะจัดการปัญหาดังกล่าว วิธีที่ดีที่สุดต้องเริ่มมาตั้งแต่ต้นทาง จึงเกิดเป็นความร่วมมือ และได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับ ซีพี ออลล์ และโรงเรียนอนุบาลทับสะแก ต้นแบบ “โรงเรียนไร้ถัง” เป็นการนำโมเดลการจัดการขยะแบบ “ทับสะแกโมเดล” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับ กลุ่มโรงเรียนในสังกัดเทศบาล 7 โรงเรียน และโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต เป็นการนำร่อง 10 โรงเรียน ก่อนที่จะขยายผลไปยังชุมชนในเขตเทศบาลนครภูเก็ต ซึ่งจะส่งผลให้ครอบคลุมพื้นที่การดำเนินงานขยายไปเกือบทั่วทั้งเขตเทศบาล โดยหวังนำแนวคิด ความรู้การจัดการขยะแบบครบวงจรด้วยวิถี “ต้นกล้าไร้ถัง” ต่อยอดไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วเกาะภูเก็ตในอนาคต เชื่อว่าจะสามารถลดปริมาณขยะได้อย่างเห็นผล และสามารถจัดการขยะอย่างยั่งยืน
ด้านนายประสิทธิ์ ฉกาจธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า ความร่วมมือของกลุ่มโรงเรียนในพื้นที่เกาะภูเก็ตที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกภาคีเครือข่ายไร้ถังรุ่นใหม่เพื่อร่วมกับองค์กรภาคเอกชนกว่า 10 แห่ง และ 467 โรงเรียนรุ่นพี่ทั้งที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ และที่สังกัดกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมการแก้ปัญหาขยะที่ต้นทาง ให้แก่นักเรียน ชุมชน ประชาชน และนักท่องเที่ยว โดยใช้วิถีโรงเรียนไร้ถัง ซึ่งประสบความสำเร็จในการลดปริมาณขยะจาก 15 ตัน/เดือน เหลือเพียง 2 กิโลกรัม/เดือน ผ่านการคัดแยกวัสดุรีไซเคิล วัสดุย่อยสลายได้ออกจากขยะ ก่อนนำไปรียูส รีไซเคิล อัพไซเคิล จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาขยะในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะสามารถลดปริมาณขยะได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทับสะแกโมเดล การจัดการขยะครบวงจรที่ประสบความสำเร็จ ให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นทาง นำสิ่งที่เป็นวัสดุอินทรีย์มาจัดการย่อยสลายเป็นการภายใน จัดการวัสดุรีไซเคิลให้พร้อมส่งต่อไปยังหน่วยงานและกระบวนการจัดการที่เหมาะสม สร้างรายได้กลับเข้าสู่โรงเรียนและชุมชน และทำให้โรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อส่งต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะไปยังชุมชนใกล้เคียงกับโรงเรียน ปลูกฝังให้คนในท้องถิ่นร่วมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยทางภาคีจะสนับสนุนงบประมาณ และองค์ความรู้ โดยมีคู่มือการดำเนินงาน การจัดฝึกอบรม การลงพื้นที่ และการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีบุคลากร โรงเรียน ชุมชน ร่วมมือกันในครั้งนี้ จึงนับเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืน ตามปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน”
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 930 ครั้ง